จับตา ครม. จัดงบกลางให้ สทนช. บริหารจัดการน้ำรับฤดูฝน ฤดูแล้ง 2567-68

25 มิ.ย. 2567 | 06:00 น.

จับตา ครม. วันนี้ (25 มิถุนายน 2567) จัดงบกลาง ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567-2568

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 มิถุนายน 2567 นี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมเสนอที่ประชุมขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568

สำหรับ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 นั้น ที่ผ่านมา ครม. ได้รับทราบหลักการของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 แล้ว แต่ยังไม่ได้อนุมัติงบประมาณไปดำเนินการ โดยให้ สทนช. ไปจัดทำรายละเอียดก่อนนำมาเสนอครม.เห็นชอบเพื่อขอรับการจัดสรรงบกลางในการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ในรายละเอียดของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 นั้น กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568

พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมาย คือพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย ตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และ พื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนตามคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

สำหรับกิจกรรม และประเภท แผนงานโครงการ ได้แบ่งกิจกรรมไว้ทั้งหมด 5 กิจกรรม เพื่อสรุป วิเคราะห์ กลั่นกรองและจัดกลุ่มแผนงานโครงการ ให้สอดคล้องกับการดำเนินการของแต่ละกิจกรรม ดังนี้

  1. การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุมการระบายน้ำและการกักเก็บน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เช่น ซ่อมแซม/ปรับปรุงพนังกันน้ำ คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่ง/ระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีโทรมาตร เป็นต้น
  2. การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา เป็นงานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งกีดขวางที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำ การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ เช่น การกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำ เป็นต้น
  3. การขุดลอกคูคลอง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เช่น ขุดลอกคู คลอง ลำน้ำ แก้มลิง เป็นต้น
  4. การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เป็นการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น
  5. การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน สำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป เช่น สระ/อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น