“ไก่เนื้อ” เพิ่งฟื้นตัว วอนรัฐปล่อยกลไกตลาดทำงาน ช่วยต่อลมหายใจผู้เลี้ยง

21 มิ.ย. 2567 | 18:33 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2567 | 19:00 น.

บทความ : เกษตรกรไก่เนื้อเพิ่งฟื้นตัว รัฐต้องปล่อยกลไกตลาดให้ทำงาน โดยศาสตราจารย์ ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สถานการณ์ไก่เนื้อในปัจจุบันเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว (ปี 2566) เกษตรกรเพิ่งทยอยฟื้นตัวขึ้นจากราคา หน้าฟาร์ม 35-36 บาท/กิโลกรัม(กก.) เป็น 42-43 บาท/กก.ความแปรปรวนของราคาไก่เนื้อเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ราคาอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น ปัญหาสงครามในภูมิภาคต่าง ๆ สภาพอากาศที่แปรปรวน เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐ หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่าเหมือนประเทศไทยจะเป็นประเทศเสรี แต่กลับมีการควบคุม และแทรกแซงกลไกการตลาดมากกว่าหลาย ๆ ประเทศ เช่น การควบคุมการใช้ข้าวโพดอาหารสัตว์เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมีรายได้ที่ดี แต่ต้นทุนอาหารสัตว์ของไทยกลับสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตไก่สูงขึ้นตาม

ยิ่งไปกว่านั้น หากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมราคาไก่เนื้อไม่ให้แพงเพื่อให้ผู้บริโภคได้เนื้อไก่ราคาถูกบริโภค ก็ไม่ต่างจากการไปบิดเบือนกลไกตลาดอีก ถึงจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่สุดท้ายประเทศไทยก็จะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน และวงจรการผลิตไก่เนื้อซึ่งเป็นปศุสัตว์ชนิดเดียวที่สามารถส่งออกได้ต้องพังทลายลง

  • การที่ราคาไก่เนื้อตอนนี้สูงขึ้นก็มีสาเหตุคร่าว ๆ คือ 

ร้อน-แล้งกระทบการเลี้ยงไก่เนื้อ

ในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2567 ประเทศไทยประสบภาวะร้อนอย่างมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ต้องเข้าใจก่อนว่าไก่เนื้อที่เลี้ยงในประเทศไทยทั้งหมดนำเข้าสายพันธุ์จากประเทศเขตหนาว อุณหภูมิเพียง 29 องศา ก็จะทำให้การกินอาหารและน้ำหนักตัวของไก่ลดลง อัตราการตายสูงขึ้น ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาอุณหภูมิสูงสุดในบางจังหวัดกลับสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ไม่แปลกที่เกษตรกรจะขาดทุน หรือประสบปัญหามากมาย  แต่พออุณหภูมิลดลง ประสิทธิภาพการเลี้ยงก็จะดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง ราคาเนื้อไก่ก็จะลดลงตามกลไกการผลิต

ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูง

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่าง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” สูง เพราะมีการแทรกแซงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงกำหนดให้ต้องใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตในประเทศไทย แม้บางครั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นหรือข้าวโพดอาหารสัตว์จากการนำเข้าจะมีราคาถูกกว่าในประเทศก็ตาม เข้าใจดีว่ารัฐบาลต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณากันทั้งระบบ การเข้าแทรกแซงต้นทุนการผลิตแบบนี้ ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตไก่สูงขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีการดีที่สุดคือรัฐบาลไม่ควรเข้าแทรกแซงราคา แต่ต้องส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ส่งเสริมการส่งออกไก่ให้มากขึ้น 

ประเด็นข่าวที่ออกมาว่า ส่งออกไก่มากจนกระทบไก่ในประเทศนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะไทยส่งออกเนื้อไก่ประมาณ 30% ของการผลิตได้ทั้งหมด และไทยไม่ได้ส่งออกไก่ทั้งตัว จำเป็นต้องมีการจัดชิ้นส่วนให้พอดีกับสถานการณ์ตลาดทั้งสหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร (UK) หรือ ญี่ปุ่น  การส่งออกเนื้อไก่ไทยมากเท่าไหร่ก็ดีต่อเศรษฐกิจประเทศทั้งระบบ แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและส่งเสริมการส่งออก

  • สรุป

การจะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรจะ “ต้องไม่ใช้” กลไกของรัฐไปเพิ่ม หรือ ลดราคาสินค้า เพราะสุดท้ายจะเป็นแก้ปัญหาแค่เฉพาะหน้า แต่กลับทำให้สูญเสียศักยภาพการผลิต และการแข่งขันของประเทศอย่างร้ายแรง รัฐบาลต้องวิเคราะห์ปัญหาเชิงระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ออกนโยบายที่ชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการ แล้ว "ปล่อยให้เป็นกลไกของตลาด" หากจะแทรกแซงก็ต่อเมื่อเห็นกลไกตลาดที่ผิดปกติเท่านั้น