เกษตรฯ ดันนวัตกรรม ชีวภัณฑ์สลายตอซังในนาข้าว ช่วยลด PM2.5 มุ่งเกษตรรักษ์โลก

14 มิ.ย. 2567 | 17:52 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2567 | 18:20 น.

“ธรรมนัส” รัฐมนตรีเกษตรฯ ดันชีวภัณฑ์ทางการเกษตรหัวเชื้อจุลินทรีย์ ย่อยสลาย วัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เร่งการย่อยสลายตอซังในนาข้าวเชื้อราไตรโคเดอร์มา ส่งเสริมการงอกของเมล็ด การเจริญเติบโตของพืช และให้ผลผลิตสูง ลด PM2.5 มุ่งเกษตรรักษ์โลก

เกษตรฯ ดันนวัตกรรม ชีวภัณฑ์สลายตอซังในนาข้าว ช่วยลด PM2.5 มุ่งเกษตรรักษ์โลก

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มาเป็นประธานเปิดงาน “โครงการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา กรมวิชาการเกษตรซึ่งในงานดังกล่าว รมว.เกษตรได้ร่วมกิจกรรม ฉีดพ่นจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังในนาข้าว และติดตามการย่อยสลายของตอซังฟางข้าว

 

เกษตรฯ ดันนวัตกรรม ชีวภัณฑ์สลายตอซังในนาข้าว ช่วยลด PM2.5 มุ่งเกษตรรักษ์โลก

ภายหลังใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก ซึ่งพบว่าฟางข้าวย่อยสลายได้ดี ช่วยลดการเผา และเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน และหว่านหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาสำหรับคลุกกับเมล็ดข้าว เพื่อป้องกันโรคพืชทางดิน ซึ่ง รมว.เกษตร สั่งให้กรมวิชาการเกษตร ผลักดัน ชีวภัณฑ์ทางการเกษตร และการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เพื่อการลดใช้สารเคมีทางการเกษตร ลดปัญหาการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร และผู้บริโภค จะเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตพืช และผลิตภัณฑ์สู่เกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน ลดการเผาตอซัง ตอบโจทย์นโยบายลด PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาได้ตรงจุด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการย่อยวัสดุอินทรีย์ ให้เป็นปุ๋ยหมัก ในระยะเวลาที่สั้นลง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเร่งการย่อยตอซังฟางข้าวในนา และเศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูกได้โดยตรง ซึ่งการปลูกข้าวของเกษตรกรเมื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะรีบปรับไถพื้นที่นา เพื่อการปลูกอย่างต่อเนื่องทันที โดยมักจะเผาตอซังและฟางข้าวที่เหลืออยู่ในนา เพื่อความสะดวกในการเตรียมแปลงปลูกข้าว ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดมลพิษ เพิ่มภาวะโลกร้อน และทำลายสมดุลธรรมชาติ หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก จะช่วยเร่งระยะเวลาการเป็นปุ๋ยหมักให้เร็วขึ้น ใช้ย่อยสลายตอซังในนาข้าว/ใช้ย่อยสลายใบอ้อย/เศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในบ่อบำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นในบ่อเกรอะได้ด้วย

เกษตรฯ ดันนวัตกรรม ชีวภัณฑ์สลายตอซังในนาข้าว ช่วยลด PM2.5 มุ่งเกษตรรักษ์โลก

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังมีงานวิจัยพัฒนาด้านชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช อาทิ ชีวภัณฑ์เชื้อรา Trichoderma harzianumสายพันธุ์ DOA- TH 50 ที่ช่วยลดความเสียหายจากการเข้าทำลายของโรคทางดิน จากเชื้อโรคพืชที่ติดมากับเมล็ดซึ่งส่งผลต่อการงอก ช่วยการเจริญของพืชทางระบบราก ส่งเสริมการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งประโยชน์ของเชื้อรา Trichoderma harzianumสายพันธุ์ DOA- TH 50 สำหรับโรคพืชทางดิน คือ การใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก เพื่อป้องกันกำจัดโรคตายพรายในกล้วย และการใช้คลุกเมล็ด เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากการเข้าทำลายของโรคพืชทางดิน ส่งเสริมความแข็งแรงและการเจริญเติบโต และเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด

สำหรับชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 24 ใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ในพืชตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเทศ พริก มันฝรั่ง มะเขือยาว มะเขือเปราะ และพืชตระกูลขิง เช่น ขิง ขมิ้น ข่า ไพล ปทุมมา โดยประโยชน์ของแบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 24 สำหรับแก้ปัญหาแก้โรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยทำการผสมน้ำรดต่อเนื่องทุก 30 วันในแปลงปลูก เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหี่ยวใบพืชตระกูลมะเขือ และพืชตระกูลขิง ส่วนการคลุกเมล็ดและแช่หัวพันธุ์ จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุโรคเหี่ยว ส่งเสริมความแข็งแรง และการเจริญเติบโต และเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความงอก

 

เกษตรฯ ดันนวัตกรรม ชีวภัณฑ์สลายตอซังในนาข้าว ช่วยลด PM2.5 มุ่งเกษตรรักษ์โลก

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การผลักดันหัวเชื้อจุลินทรีย์ ย่อยสลาย วัสดุอินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก เร่งการย่อยสลายตอซังในนาข้าว และเชื้อราไตรโคเดอร์มา ลดความเสียจากการเข้าทำลายของโรคทางดิน  ช่วยการเจริญของพืชทางระบบราก ส่งเสริมการงอกของเมล็ด การเจริญเติบโตของพืชและให้ผลผลิตสูง และ ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA 24 ใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร สนับสนุนนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร  สามารถนำไปใช้ผลิตพืชปลอดภัย สอดรับกับนโยบายของ รมว.เกษตร ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เกษตรต้องมีความปลอดภัย ยกระดับเพิ่มรายได้ 3 เท่า ใน 4 ปี