มติครม.เคาะ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท

11 มิ.ย. 2567 | 15:17 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2567 | 15:30 น.
1.0 k

รองโฆษกรัฐบาล แถลง มติครม.เคาะ ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอัตราใหม่ ต่ำสุด 17 บาท สูงสุด 45 บาท เริ่ม 3 กรกฎาคม 67

วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ 

นางสาวเกณิกากล่าวว่า สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกำหนดให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารทุก ๆ ระยะเวลา 24 เดือน นับตั้งแต่เริ่มการบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2547) โดยอัตราค่าโดยสารปัจจุบันจะครบกำหนด 24 เดือน ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

นางสาวเกณิกากล่าวว่า ประกอบกับมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน การให้บริการและความสะดวกในกิจการรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการและค่าธรรมเนียมดังกล่าว และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารโดยได้รับความเห็นชอบจากครม.

นางสาวเกณิกากล่าวว่า รฟม. จึงได้ยกร่างข้อบังคับฯ ดังกล่าว เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) โดยใช้ตัวเลขของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลในการคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามสัญญาจะมีอัตราเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567

นางสาวเกณิกากล่าวว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการ รฟม. ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งอนุมัติหลักการให้ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบจากรถไฟฟ้าสายอื่นมายังรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2569 เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้าและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

นางสาวเกณิกากล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้การปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 (ครบกำหนดการบังคับใช้ตามสัญญาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567) จึงได้ยกร่างข้อบังคับฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลอัตราใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท เพื่อให้การปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2567