ชงบอร์ดรฟท.ไฟเขียว 5 เส้นทาง “รถไฟทางคู่ เฟส 2” 2.24 แสนล้าน

02 มิ.ย. 2567 | 15:58 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2567 | 16:03 น.
6.3 k

“กรมราง” ดัน รถไฟทางคู่ เฟส 2” 5 เส้นทาง วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท จ่อชงบอร์ดรฟท.รอบใหม่ ขณะที่ทางคู่สายขอนแก่น-หนองคาย เล็งเปิดประมูล มิ.ย.นี้ เผยแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟส 1 คืบหน้าถึงไหนแล้ว

นายพิเชฐ  คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการรถไฟระหว่างเมือง ครั้งที่ 1/2567  ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และทางสายใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง การเตรียมประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร ในเดือนมิถุนายน 2567 

 

ทั้งนี้ที่ประชุมรับทราบการขออนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 1,123 กิโลเมตร รวมวงเงิน 224,899 ล้านบาท โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) พิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้รฟท.พิจารณาเสนอขออนุมัติโครงการตามลำดับความสำคัญ  

 

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2  จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ 


1. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย  วงเงิน ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท


2.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ราชธานี ระยะทาง 308 ล้านบาท วงเงิน 44,103 ล้านบาท


3.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์  ระยะทาง 45 กม. วงเงิน  7,900 ล้านบาท


4. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 ล้านบาท วงเงิน 24,294 ล้านบาท


5. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 ล้านบาท วงเงิน 67,459 ล้านบาท
 

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า การประชุมวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดแผนการเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร  ระยะทาง 421 กิโลเมตร ที่ปัจจุบันได้เปิดเดินรถไฟทางคู่ช่วงสถานีบ้านคูบัว - สถานีสะพลี ระยะทาง 348 กิโลเมตรไปแล้ว และจะเปิดใช้งานเดินรถไฟทางคู่เพิ่มอีก 72 กิโลเมตร ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป 

 

ส่วนแนวเส้นทางที่จะเปิดให้บริการ ประกอบด้วย ด้านทิศใต้ของย่านสถานีนครปฐม (ประแจหมายเลข 126) - สถานีบ้านคูบัว ระยะทาง 57 กิโลเมตร และช่วงสถานีสะพลี-สถานีชุมพร (รวมหน้าย่านสถานีชุมพร ราง 1 และราง 3 ) ระยะทาง 15 กิโลเมตร ส่งผลให้สามารถเดินรถไฟทางคู่ได้รวมระยะทาง 420 กิโลเมตร โดยใช้ระบบทางสะดวก (E-token) เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ โดยยังคงเหลือช่วงย่านสถานีนครปฐม ประมาณ 1 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 นี้  

ชงบอร์ดรฟท.ไฟเขียว 5 เส้นทาง “รถไฟทางคู่ เฟส 2”  2.24 แสนล้าน

ขณะที่งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร (สัญญา 7) ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 59.762  คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นจึงจะเปิดรถไฟทางคู่สายใต้แบบเต็มรูปแบบต่อไป

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเร่งรัดการเปิดใช้งานรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา - คลองขนานจิตร ปัจจุบันมีคืบหน้าแล้วร้อยละ 97 เหลือช่วงที่ต้องรอเงินค่าเวนคืนเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี ก่อนดำเนินการก่อสร้างบริเวณทางลงยกระดับมวกเหล็ก 
 

ด้านพื้นที่ส่วนที่เหลือ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณปีเศษ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานทางคู่ในระยะแรก ช่วงสถานีมาบกะเบา-สถานีมวกเหล็กใหม่ (ใช้ทางใหม่เข้าอุโมงค์ที่ 1 (อุโมงค์ผาเสด็จ) และออกจากอุโมงค์ที่ 2 (อุโมงค์หินลับ) จะเบี่ยงขวาเข้าทางรถไฟเดิมก่อนถึงสถานีมวกเหล็กใหม่) ระยะทาง 13 กิโลเมตร ช่วงสถานีบันไดม้า - สถานีคลองขนานจิตร ระยะทาง 30 กิโลเมตร รวมระยะทาง 43 กิโลเมตรได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 นี้  

ชงบอร์ดรฟท.ไฟเขียว 5 เส้นทาง “รถไฟทางคู่ เฟส 2”  2.24 แสนล้าน

ขณะเดียวกันการเปิดใช้งานอุโมงค์ที่ 3 (อุโมงค์ลำตะคอง) ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมอีก 237 เมตรไปบรรจบทางรถไฟเดิม  คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานปลายปี 2567 นี้  นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เร่งรัดการรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ โดยเฉพาะสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 92  โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จให้ชัดเจน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมระบบขนส่งสาธารณะขนาดรอง (feeder) มารองรับการเชื่อมต่อให้สอดคล้องกับช่วงที่มีการเปิดใช้งานสถานีลพบุรีแห่งใหม่ประมาณปลายปี 2567 นี้ 

 

นอกจากนี้การก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ปัจจุบันมีความคืบหน้างานโยธาไปมากพอสมควร และอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานเดินรถไฟทางคู่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย