นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายกรมสรรพากร ว่า ได้มอบนโยบายให้กรมสรรพากรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ซึ่งหลาย 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีต่ำลง โดยกลไกที่ควรจะปรับปรุง คือ ลดการใช้ดุลพินิจ การหาแนวทางขยายฐานภาษี ด้วยการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน
“เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่า กลไกการเสียภาษีจะเกิดประโยชน์กับเขาอย่างไร ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ซึ่งคนยินดีที่ย้ายเข้าไปอยู่ในเขต พื้นที่ที่เสียภาษีในอัตราที่สูง เพื่อแลกกับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ควรมีกลไกสร้างความชัดเจนในการเชื่อมโยงว่าภาษีที่มาถึงรัฐแล้ว กลับไปถึงมือประชาชนอย่างไร ซึ่งเป็นกลไกสร้างจิตสำนึก และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง”
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับกรมสรรพากรเรื่องการยื่นแบบภาษี ซึ่งยังถือว่าเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชน ส่วนนี้มอบนโยบายให้กรมไปพิจารณาปรับปรุงกระบวนการ ระบบเทคโนโลยี ให้รองรับ รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสามารถเข้าสู่กระบวนการยื่นแบบภาษีได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังหารือถึงการลดหย่อนภาษี ได้มอบนโยบายให้กรมสรรพากรกำหนดกรอบเวลา และตัวชี้วัดให้ชัดเจน เนื่องจากการออกมาตรการลดหย่อนภาษีแต่ละครั้ง มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเราทำเพื่ออะไร และสามารถไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และเพื่อความยั่งยืนในอนาคตด้วย
“ได้ฝากโจทย์ไปถึงกรม เพราะกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมีหลายรูปแบบ เช่น ภาระของรัฐที่มีในเรื่องงบ 30 บาท รักษาทุกโรค เฉลี่ยใช้เม็ดเงินงบประมาณหลายแสนล้านบาท ละมีแนวโน้มเติบโตทุกปี ซึ่งกลไกทางภาษีช่วยเหลือได้ และยังรวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ฝุ่นควัน กลไกทางภาษีสามารถทำได้ เรื่องนี้ต้องสำรวจเพิ่มเติม และนำมาหารือกันอีกครั้ง”
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งเรื่องที่ได้เน้นย้ำทางกรมดูแล คือ การคืนภาษี โดยกลไกตามกฎหมายของสรรพากรไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังเป็นเรื่องเอกสาร และระบบที่ยังไม่สอดประสาน ซึ่งกรมสรรพากรก็รับข้อสั่งการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อประชาชน เอกชน และต่างประเทศด้วย
ขณะเดียวกัน ยังได้เน้นย้ำให้กรมสรรพากร เข้มงวดนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับตรวจจับใบกำกับภาษีปลอม โดยขณะนี้กรมยังมีผ่านป้องกัน แต่ยังไม่มีการยกระดับเหมือนกับหน่วยจัดเก็บภาษีอื่น ฉะนั้น จะต้องมาดูรายละเอียดต่างๆ ในส่วนนี้ ด้านกรณีผู้มีเงินได้ถึงเกณฑ์ในประเทศไทยกว่า 20 ล้านคน ไม่ยื่นแบบภาษีนั้น ถือว่าไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของสรรพากรที่จะต้องติดตามเพื่อให้ผู้มีเงินได้มาติดต่อชำระภาษี
ขณะเดียวกัน ยังได้มอบนโยบายการนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมเรื่องการแก้ไขปัญหาการบริการให้กับประชาชน ซึ่งสรรพากรก็มีแผนพัฒนาเรื่องนี้อย่างชัดเจนสำหรับเรื่องระบบต่างๆ และยังได้วางเป้าหมายว่า ปี 2570 จะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมจะเน้นนำระบบเอไอมาใช้ เพื่อดำเนินการตรวจสอบภาษี ทั้งนี้ ระหว่างพัฒนาข้อมูล กรมได้ส่งหนังสือออกไปแจ้งผู้ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ชำระภาษี แต่ยังไม่ได้ชำระภาษีเข้ามากว่า 5 แสนราย โดยดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ทั้งนี้ มีผู้ถึงเกณฑ์ชำระภาษีดังกล่าวกลับมาชำระภาษีครึ่งหนึ่ง เม็ดเงิน 4,500 ล้านบาท ฉะนั้น คาดว่าหากพัฒนาระบบเรียบร้อยแล้วจะสามารถดึงผู้เสียภาษีเข้ามาอยู่ในระบบ รวมทั้งเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาลได้มากขึ้น
ส่วนการขยายฐานภาษีนี้ กรมได้ดูในเรื่องแพลตฟอร์มต่างๆ สำหรับข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มหากเป็นผู้มีเงินได้เกินปีละ 1,000 ล้านบาท ต่อไปนี้ตั้งแต่ปีบัญชีนี้เป็นต้นไป จะต้องรายงานแหล่งรายได้กลับมายังกรมสรรพากร กรมสามารถดูข้อมูล ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินได้ต่อไป
นอกจากนี้ กรมยังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย สำหรับต่างชาติที่อยู่ในไทยเกิน 180 วัน และมีเงินได้จากต่างประเทศ แม้ไม่ได้นำเงินเข้ามา จะต้องเสียภาษี ณ ปีที่มีเงินได้ ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างดำเนินการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax หรือการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำ ที่อัตรา 15% หรือ Pillar 2 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเม็ดเงินที่เพิ่มเข้ามา