สธ.เร่งขจัดตาต้อกระจกผู้สูงอายุ

06 มิ.ย. 2559 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2559 | 21:14 น.
กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้สูงอายุมีโอกาสป่วยด้วยโรคต้อกระจกปีละ 65,000 คน เร่งขจัดตาต้อกระจก เปลี่ยนกระจกตา และคัดกรองสายตาเด็ก ด้วย 7 มาตรการ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพตาดี ในปี 2560

วันนี้ (6 มิถุนายน 2559) ที่ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาตา ปี 2559-2565 เพื่อพัฒนาบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยต้อกระจก ผู้ป่วยเปลี่ยนกระจกตา การคัดกรองและแก้ปัญหาสายตาเด็ก โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จักษุแพทย์ พยาบาลเวชปฏิบัติทางตา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางตากว่า 300 คน เข้าร่วมการประชุม

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ใน 13 สาขา ภายใต้หลักการ “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ” เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ จนถึงศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง มีระบบส่งต่อภายในเครือข่าย เกิดการดูแลแบบเบ็ดเสร็จ เพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสาขาตาเป็น 1 ในทั้งหมดที่มีความสำคัญมาก โดยประชากรไทยมีความชุกตาบอดร้อยละ 0.59 สาเหตุสำคัญของภาวะตาบอดเกิดจากโรคต้อกระจก พบมากในผู้สูงอายุร้อยละ 51และคาดการจำนวนคนที่ตาบอดจากต้อกระจกตกค้างอยู่ประมาณ 98,000 คนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และผลสำรวจของรพ.เมตตาประชารักษ์ ปีพ.ศ.2556 พบว่า ผู้สูงอายุที่ตาบอดจากต้อกระจกยังคงตกค้างอีกประมาณ 65,000 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดถาวรได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดทำโครงการ “ขจัดตาบอดและสายตาเลือนรางจากต้อกระจกปี 2560 เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นำสู่การมีสุขภาพตาดี (VISION2020thailand)”ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลกคือลดความชุกภาวะตาบอดให้เหลือร้อยละ 0.3 ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรวดเร็ว มีมาตรฐาน คุณภาพชีวิตดีขึ้น

สำหรับ 7 มาตรการ จัดการโรคต้อกระจก คือ 1.สร้างความตระหนักแก่ผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพตา 2.พัฒนาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับให้สามารถคัดกรองสายตาผู้สูงอายุได้ 3.ค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยต้อกระจกระยะบอดเชิงรุก 4.พัฒนาระบบส่งต่อให้ผู้ป่วยต้อกระจกเข้ารับการตรวจที่รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปในเขตสุขภาพ โดยใช้ระบบวีซ่าเพื่อระบุผู้ที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดต้อกระจก 5.เร่งรัดการผ่าตัดต้อกระจกให้ได้ตามเป้า พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์และบุคลากรให้เพียงพอ 6.บูรณาการทำงานร่วมมือทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายต่างๆ และ7.กำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโดยใช้ฐานข้อมูลจากโปรแกรม VISION2020thailand คาดว่าแนวทางนี้จะช่วยขจัดปัญหาตาบอดและสายตาเลือนลางจากต้อกระจก และลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดตาต้อกระจกได้ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้รับการคัดกรองสายตามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีประสิทธิภาพ เป็นบริการที่ไร้รอยต่อและใช้ทรัพยากรร่วมกันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข และร่วมกับ 4 หน่วยงานหลัก คือ สภากาชาด กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระดมความช่วยเหลือผู้ป่วยกระจกตาพิการ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญ พระชนมพรรษา 84 พรรษา และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย 60 ปี และจัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดีเพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้” และขยายผลในนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2560 ต่อไป