"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" แนะ "ครม.เศรษฐกิจ" สร้างกลไกแก้หนี้ทั้งระบบ

26 พ.ค. 2567 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2567 | 10:36 น.

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" แนะ "ครม.เศรษฐกิจ" สร้างกลไกแก้หนี้ทั้งระบบ หลังเอสเอ็มอีติดกับดักรายได้น้อยกว่ารายจ่าย 52% สภาพคล่องลดลง 26% และ 22% เผชิญอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการควบคุมต้นทุน ค่าครองชีพ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นเรื่องที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันจันทร์ที่ 27 พ.ค. 67 เพื่อหามาตรการ หรือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียน ว่า 

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีประเด็นเสนอเพื่อการวางนโยบายเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงาน ประกอบด้วย 

1.หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ จากการสำรวจ สสว. ไตรมาส 1/2567 พบว่าเอสเอ็มอีติดกับดักรายได้น้อยกว่ารายจ่าย 52% สภาพคล่องลดลง 26% และ 22% เผชิญอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 

ขณะที่เอสเอ็มอี 46% มีภาระดอกเบี้ยสูง 23% ขั้นตอนยุ่งยากและอนุมัติล่าช้า 14% ขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม 7% ขาดหลักทรัพย์ในการยื่นขอสินเชื่อ 

นอกจากนี้การเติบโตของ GDP SME ยังคงที่ 35% ของ GDP ทั้งประเทศ ซึ่งรายย่อยที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการถึง 85% มีสัดส่วนการจ้างงาน 30% ของการจ้างงานภาคเอกชน แต่มีสัดส่วน GDP รายย่อยเพียง 3% เท่านั้น 
 

หากมองในมิติแหล่งทุนพบว่าเอสเอ็มอีพึ่งพาแหล่งทุนนอกระบบถึง 35% ขณะที่ภาคแรงงาน ลูกจ้าง 37% ขณะที่สัญญาณหนี้เสียประมาณ 1.05% ล้านล้านบาทเพิ่มขี้น 8% เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล 260,000 ล้านบาท  สินเชื่อยานยนต์ 230,000 ล้านบาท สินเชื่อที่อยู่อาศัย 180,000 ล้านบาท และบัตรเครดิต 60,000 ล้านบาท 

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" แนะ "ครม.เศรษฐกิจ" สร้างกลไกลแก้หนี้ทั้งระบบ

ด้านหนี้เฝ้าระวัง (Special mention) รอประทุกว่า 610,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมองว่า ต้องออกแบบกลไกการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยคำนึงถึงปัจจัยผลกระทบที่ต้องไม่ทำให้ ยิ่งจน ยิ่งเปราะบาง ดอกเบี้ยยิ่งสูง เข้าถึงแหล่งทุนในระบบยาก เช่น การนำ บสย. มาช่วยเหลือในการค้ำประกันสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มสภาพคล่องรายย่อยกับสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งกองทุน สสว. กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เป็นต้น"

นายแสงชัย กล่าวอีกว่า การแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนต้องดำเนินการร่วมมือทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาคการศึกษาทุกระดับ และกระทรวงการคลังควรร่วมกับ อปท. และราชการในระดับส่วนภูมิภาค สถาบันการเงินพาณิชย์และรัฐ รวมทั้ง บสย. ในการยกระดับทักษะการบริหารการจัดการทางการเงินที่ถูกต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืนให้กับประชาชนทุกครอบครัว 
 

ขณะเดียวกันต้องมีระบบส่งต่อความต้องการพัฒนาทักษะในระดับต่างๆเพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เช่น ทักษะการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการพัฒนาความคิดส้างสรรค์และนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าสินค้า บริการและธุรกิจ เป็นต้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการแก้ไขปัญหาหนี้ในทุกระดับ สาขาอาชีพ  

2.การบริหารจัดการควบคุมต้นทุน ค่าครองชีพ ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต ขนส่ง ความเป็นธรรมทางพลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า และดอกเบี้ย (ความเสี่ยง) ที่สถาบันการเงินทั้งในและนอกการกำกับ เพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แรงงานที่ต้องแบกรับภาระเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่รายได้ไม่ฟื้นตัว กำลังซื้อลดลง และหารายได้ไม่ทันรายจ่าย

ซึ่งต้องมีการเร่งแก้ไขปัญหาให้เกิดการปรับโครงสร้างต้นทุนที่แท้จริงพลังงาน และส่งเสริม Green Finance ดอกเบี้ยต่ำ ให้ผู้ประกอบการ ประชาชนที่มีความพร้อมเข้าถึงในการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานสีเขียว อีกทั้งการกระจายอำนาจให้ภาคประชาชน ท้องถิ่นได้มี Solar Farm ของชุมชนท้องถิ่นใช้เอง เพราะปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานฟอสซิลถึง 75% และพลังงานสีเขียวมีเพียง 25% เท่านั้น

ด้านอัตราดอกเบี้ยความเสี่ยงเป็นอีกหนึ่งกับดักรายย่อยที่ต้องไปพึ่งพาแหล่งทุนที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น ควรทบทวนอัตราดอกเบี้ยพิโกไฟแนนซ์ แบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน วงเงิน 50,001-100,000 บาท มีอัตราเท่ากัน 28% ต่อปี ขณะที่วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท แบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน โดยมีหลักประกัน 33% ต่อปี ไม่มีหลักประกัน 36% ต่อปี อีกทั้งแบบไม่มีหลักประกันยังมีนิยามทีไม่เป็นธรรม กล่าวคือ การวางโฉนด จำนำทะเบียนรถ ถือว่าเป็นแบบไม่มีหลักประกัน

3.มาตรการจูงใจเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ ทั้งภาคแรงงานนนอกระบบ ผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบที่มีอยู่ถึง 46% ต่อ GDP ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 15 ของโลก และอันดับที่ 2 ของอาเซียน ซึ่งจะทำให้ฐานการจัดเก็บรายได้ และการส่งเสริมยกระดับการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถกำลังคน และลดปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ทำให้เศรษฐกิจและสังคมมีความยั่งยืน โดยอาจนำโครงการแนงคิดที่ดีของรัฐบาลในการทำเรื่อง Soft Power มาใช้เป็นกลไกในการยกระดับเข้าระบบรูปแบบเติมทุนพัฒนา Soft Power และหรือ Soft Skills  ปรับระบบฐานภาษีจูงใจเข้าระบบ ออกแบบระบบสวัสดิการรัฐที่ตอบโจทย์ความต้องการประชาชน เป็นต้น

4.มาตรการเพิ่มศักยภาพ และส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี และแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพสินค้า บริหาร และได้รับการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงมาตรฐานต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่างๆที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องใช้ ต้องไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายนอกระบบ และต้องไม่ประวิงเวลาการออกใบอนุญาตินานจนผู้ประกอบการด้รับผลกระทบจากการดำเนินการออกใบอนุญาติบางหน่วยงาน 

รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐานแรงงานที่ต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงมาตรการต่างๆที่ดีของภาครัฐในการพัฒนากำลังคน ที่สำคัญ คือ จากข้อมูลความต้องการพัฒนาขีดคามสามารถของประชากรไทยวัยแรงงานเฉลี่ย 5 ล้านคนต่อปี แต่การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอและขาดการเชื่อมโยง บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในการเชื่อม จับคู่งาน ฝึกอบรม รับรองมาตรฐาน นำมาตรฐานไปใช้ในการกำหนดค่าแรง เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การเชื่อมส่งต่อความช่วยเหลือพัฒนาเอสเอ็มอี ต้องยกระดับ BDS ของ สสว. ให้ขยายวงในการเชื่อมเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพิ่มความหลากหลายผู้ให้บริการ Up skills – Re skills ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการมากขึ้น และควรจัดสรรงบประมาณให้สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เอสเอ็มอีได้รับสิทธิประโยชน์ในการพัฒนากิจการให้มีแต้มต่อพร้อมด้วยการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเข้าถึงเอสเอ็มอี

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีความคาดหวังและพร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อเดินเครื่องยนต์เศรษฐกิจประเทศไทยให้สามารถพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า ลดการขาดดุลการค้า และเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการและแรงงานไทยสามารถไปเติบโตได้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปด้วยกัน พร้อมทั้งการกระจายรายได้ให้เศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมความเหลื่อมล้ำรายได้และโอกาสก็จะเป็นอดีตสำหรับประเทศไทย

นายแสงชัย กล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวเติบโตเพียง 1.5% ในไตรมาส 1/67 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศมาเลเซียเติบโต 4.2% ประเทศสิงคโปร์เติบโต 2.7% ประเทศฟิลิปปินส์เติบโต 5.7% ประเทศเวียดนามเติบโต 11% มีเพียงประเทศอินโดนีเซียที่เติบโตใกล้เคียงกับประเทศไทย คือ 1.7%