เอกชนหวั่นการเมือง กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

24 พ.ค. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2567 | 16:02 น.

นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยยอมรับ การเมืองไทยส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทำนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โชคดีภาคเอกชนแข็มแข็ง มั่นใจภาพรวมปีนี้ เติบโตไม่ต่ำกว่า 10%

สถานการณ์ทางการเมืองไทยกำลังร้อนระอุ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติวันนี้ 23 พฤษภาคม 2567 ในคดีที่ 40 สว.ยื่นถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน และพิชิต ชื่นบาน” รับคำร้อง แต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้จำหน่ายคดีพิชิตเพราะลาอกแล้ว โดยสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40  คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ  เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2  ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ

ในกรณีดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างเฝ้าจับตาดูสถานการณ์อยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการเมืองไทยมีปัญหายืดเยื้อสะสมมานานหลายปีแล้ว และแน่นอนว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ของรัฐบาล ย่อมส่งผลกระทบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ธุรกิจ การลงทุน ฯลฯ

นางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องการเมืองไทยมีความปั่นป่วนอยู่ตลอดเวลา แต่โชคดีที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแรง เพราะศักยภาพของผู้ประกอบการเก่ง เอาตัวรอดเป็น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ นักลงทุนต่างชาติที่คิดจะมาลงทุนในไทยหลายคนยังชะลอไว้ก่อน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง หากยกตัวอย่างเทียบกับประเทศเกาหลีใต้จะเห็นได้ชัด ว่าภาครัฐของประเทศเกาหลีใต้จะใส่ใจและสนับสนุนผู้ประกอบการตลอด ปลุกกระแสผ่านซีรี่ส์หรือโครงการต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินหน้าต่อไปได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องสำอางไทย ส่วนใหญ่จะต้องช่วยตัวเอง หวังพึ่งรัฐบาลยากเพราะภาครัฐหรือรัฐบาบก็มีปัญหา

“หากพูดตามตรง สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยปัจจุบันยังฝืดเคือง ไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อก่อให้เกิดรายได้ให้กับประชาชน ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องสำอางในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากกฎหมายบางตัวหรือพระราชบัญญัติบางอย่าง เช่น การโฆษณา ซึ่งคุณลักษณะของเครื่องสำอางและยาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้และจะต้องแก้กฎหมายการโฆษณาให้เข้ากับบริบทในยุคปัจจุบัน แต่ก็ทำได้ยากเพราะติดการเมือง คนการเมืองยังคงทะเลาะกันอยู่ หลายอย่างเป็นอุปสรรคในการลงทุนทำธุรกิจของคนไทยและต่างชาติยัง ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุง ทั้งที่ภาครัฐควรจะทำตั้งนานแล้ว”

นางเกศมณี กล่าวว่า สำหรับตลาดโดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยถือว่ายังเติบโตได้ดี ปี 2566 มีอัตราการเติบโต 11.5% มูลค่าสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสกินแคร์อย่างเดียวมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่เหลือคือผลิตภัณฑ์สีสันและน้ำหอมที่มีสัดส่วนการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังไม่รวมถึงผ้าอนามัย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสปา เช่น น้ำมันนวดตัว หากนำมทรวมกัน มูลค่าในตลาดจะสูงมากขึ้นอีก และในปี 2567 ถ้าไม่เกิดผลกระทบอะไรร้ายแรงที่สุด อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยน่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองจะมีเอฟเฟกต์รุนแรงต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มากกว่าการลงทุนของนักลงทุนไทยด้วยกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยไม่ดี จนนักลงทุนต่างชาติไม่มีความเชื่อมั่น ประเทศในอาเซียนข้างเคียงใกล้กับประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์ไป คนไทยก็จะตกงาน