ลุย แผนพัฒนาคลองเตย ประชุมนัดแรก 20 พ.ค.ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน               

16 พ.ค. 2567 | 06:56 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 07:04 น.

คมนาคม ลุยแผน พัฒนาท่าเรือคลองเตย 2.3พันไร่ “สุริยะ” ตั้งคณะกรรมการฯชุดแรก ประชุม 20 พ.ค.นี้ พร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ด้านพนักงาน-คนพื้นที่ยันชุมชน-พนักงาน-กิจการท่าเรือ ต้องอยู่ร่วมกัน ที่กระทบหนักธุรกิจเอสเอ็มอี ต้นทุนพุ่งแน่

 

 

แผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ,กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือคลองเตย ออกจากพื้นที่กทม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ ”ว่า ขณะนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการตั้งคณะกรรมการฯ ชุดแรกเกี่ยวกับแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยคาดว่าจะมีการประชุมนัดแรกภายใน วันที่ 20 พฤษภาคมนี้

ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการฯชุดนี้ เพื่อศึกษาแผนพัฒนาฯและการย้ายท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เช่น ผู้แทนกระทรวงการคลัง,ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานอัยการสูงสุด,กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ฯลฯ

 

ขณะเดียวกันกระทรวงฯจะมีการตั้งคณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแผนฯ โดยเป็นการต่อยอดใช้ข้อมูลเดิมที่มีของ กทท. รวมทั้งดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นการศึกษาแผนฯจะดำเนินการในภาพรวมก่อน ซึ่งมีพื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรกว่า 400 ไร่และพื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรกว่า 500 ไร่

โดยเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่าที่ยังไม่ได้มีการลงทุน รวมทั้งบางพื้นที่กทท.มีแผนพัฒนาเป็นท่าเรือกรีนพอร์ท และพัฒนาท่าเรือครุยส์ เทอมินัล โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์การค้า, ดิวตี้ฟรีฯ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ คาดว่าจะดำเนินการศึกษาทบทวนการศึกษาแล้วเสร็จภายในปีนี้

 “มีการพัฒนาท่าเรือคลองเตยจะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ชุมชนคลองเตยอย่างไรนั้น ในเรื่องนี้มีผลกระทบแน่นอน ซึ่งเราจะต้องดำเนินการชดเชยพร้อมเยียวยาในการการย้ายประชาชนในพื้นที่เพื่อเข้ามาอาศัยในพื้นที่ตึกสูง ตลอดจนการดูแลสิทธิผลประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เขาด้วย”

นอกจากนี้ก่อนตั้งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ได้รับทราบว่าทางกทท., กรุงเทพมหานคร (กทม.) และพม.ได้ลงพื้นที่ดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่หารือร่วมกับประชาชนในชุมชนนี้บางส่วนแล้ว

 นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการกทท. กล่าวว่า นอกจากแผนพัฒนาท่าเรือ ให้เกิดประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าแล้ว พื้นที่โดยรอบ ท่าเรือคลองเตย ยังมีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีคลองเตย ซึ่งอยู่ตามแนวถนนพระรามที่ 4 ถือเป็นเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อสำนักงานการไฟฟ้านครหลวงเขตคลองเตย, โรงงานยาสูบ ,ตลาดซอยโรงงานยาสูบ, โรงเรียนคลองเตยวิทยา และสถานที่สำคัญต่างๆ อีกมากมาย

ขณะเดียวกันพื้นที่รอบๆ ท่าเรือคลองเตยยังมีโครงการทางเชื่อมต่อและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ซึ่งเป็นโครงการฯที่จะช่วยแก้ปัญหารถติดภายในท่าเรือ ส่งผลให้แผนการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะมีความน่าสนใจมากขึ้นจากนักลงทุนต่างๆ ที่เข้ามา ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง

 “ฐานเศรษฐกิจ” สอบถาม พนักงาน กทท.และผู้อยู่อาศัยพื้นที่บริเวณคลองเตย ถึงแผนพัฒนาท่าเรือดังกล่าวว่าได้รับคำตอบว่า ได้ทราบถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีกรณีสั่งย้ายท่าเรือคลองเตย ซึ่งเหมือนเป็นการโยนหินถามทาง และต้องยอมรับว่า หากย้าย ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องยอมรับในเรื่องแรงต่อต้านจากชุมชนและ พนักงานของกทท.ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย

 ที่กระทบมากที่สุดคือ เอกชนทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่คุ้นเคย ขนถ่ายสินค้า บริเวณท่าเรือคลองเตย และมีต้นทุนค่าขนส่งไม่สูงเนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ใกล้ท่าเรือหรือภายในกทม.แต่หากย้ายออกไปทั้งหมดเพื่อไปใช้พื้นที่ยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ต้องยอมรับได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งรัฐบาลต้องพิจารณาถึงจุดนี้ ด้วย

ในทางกลับกันหากพัฒนาพื้นที่บางส่วนและยังคงเปิดการบริการการเดินเรือขนส่งสินค้าตามปกติ พนักงานและเอกชนรวมถึงชุมชนเห็นด้วยเพราะทุกคนได้รับอานิสงส์จากท่าเรือแห่งนี้ ส่วนการสร้างโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตนำประชาชนขึ้นไปอยู่บนอาคาร มองว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากย้าย

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือคลองเตย มีมาตั้งแต่ปี 2547 ช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ มีแนวคิดพัฒนาท่าเรือเชิงธุรกิจสร้างคอมเพล็กซ์ และเมื่อรัฐบาลเศรษฐาให้เร่งย้ายท่าเรือ เท่ากับปัดฝุ่นโปรเจ็กต์เก่า โดยย้ำว่า หากมีการพัฒนาจริง ขอให้องค์กรท่าเรือ ชุมชน พนักงาน ต้องอยู่ร่วมกัน ซึ่งตามแผนเดิมจะยกระดับท่าเรือคลองเตยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าแต่ไม่แน่ชัดว่ายังจะคงแผนเดิมหรือไม่