ทุเรียน“หลิน-หลงลับแล” คึกคัก ล้งแย่งซื้อดันราคาพุ่งโลละ 300 อัพ

15 พ.ค. 2567 | 16:58 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 16:58 น.
2.6 k

ทุเรียนหลง-หลินลับแล รุ่นแรกคึก ล้งจีน-ไทย เปิดศึกแย่งซื้อ ดันกิโลฯ ละ 300 อัพ ชาวสวนอุตรดิตถ์เน้นขายเป็นกิโลฯ ไม่นิยมขายเหมาสวน “เจ้าของล้ง-สวนเพ็ชร์พิชัย” ชี้ ททท. จัดบุฟเฟ่ต์ชิมถึงสวนเลียนโมเดลภาคตะวันออก คาดผู้ประกอบการร่วมโครงการน้อย เหตุแค่ขายในประเทศยังไม่พอ

“ทุเรียนหลง-หลินลับแล” เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับฉายาว่า “ทุเรียนเทวดาเลี้ยง” ปลอดสารพิษ เพราะปลูกบนภูเขาสูง ผลผลิตจะออกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดด้วยรสชาติที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งหากนำพันธุ์ไปเพาะปลูกที่อื่น จะทำให้ผลผลิตที่ได้มีรสชาติผิดแผกไปจากเดิม หรืออาจไม่ติดผลผลิตก็เป็นได้ ด้วยการเจริญเติบโต และการสะสมอาหารในเนื้อผลนั้น จำต้องใช้สภาพแวดล้อม หรือแม้แต่ธาตุอาหารในดินเฉพาะถิ่น อันเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิม จึงทำให้ผลผลิตของทุเรียนหลิน-หลงลับแลออกสู่ตลาดน้อย และมีราคาค่อนข้างแพง

ทุเรียน“หลิน-หลงลับแล” คึกคัก  ล้งแย่งซื้อดันราคาพุ่งโลละ 300 อัพ

 

นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ และรักษาการหัวหน้าศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมทุเรียนของจังหวัดในปี 2567 มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง สัดส่วน 74.41% ทุเรียนหลงลับแล 11.87% ทุเรียนหลินลับแล 2.02% ทุเรียนพื้นเมือง 11.70% มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 47,000 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนกว่า 7,000 ราย มีมูลค่าผลผลิตและส่งออกทุเรียน ปี 2566 กว่า 4,900 ล้านบาท คาดปี 2567 จะมีการเติบโตไม่ตํ่ากว่า 10% จากปีที่แล้ว จากมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

 

 

 “ในปีนี้มีล้งเข้ามารับซื้อทุเรียนจำนวนมากโดยเฉพาะล้งจีน ที่แย่งซื้อทุเรียนสายพันธุ์หลง-หลินลับแล โดยให้ราคาเริ่มต้นที่ 300 บาทต่อกิโลฯ สาเหตุที่ราคาสูงก็เพราะผลผลิตมีไม่มากและรสชาติมีเอกลักษณ์ มีความอร่อยทานคำแรกก็รู้โดยทันทีว่าไม่เหมือนที่อื่น เพราะ 95% ของพื้นที่ปลูกเป็นภูเขาสูง และที่ลาดชัน ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือและทางด้านตะวันออกของจังหวัดอุตรดิตถ์ สภาพภูมิประเทศเป็นป่าสลับซับซ้อน ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย (สีส้มอิฐ) หรือที่เรียกว่าดินแดงผาผุ”

ทุเรียน“หลิน-หลงลับแล” คึกคัก  ล้งแย่งซื้อดันราคาพุ่งโลละ 300 อัพ

จากสภาพดังกล่าว ทำให้ทุเรียนอุตรดิตถ์มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นลักษณะเฉพาะที่ถือเป็นอัตลักษณ์ คือมีรสชาติหวานมันกำลังดี กลิ่นไม่แรง โดยเฉพาะสายพันธุ์ “หลงลับแล” ผลทรงกลม มีกลิ่นอ่อน เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียว ไม่เละ รสชาติหวานมัน หอมอ่อนๆ และสายพันธุ์ “หลินลับแล” ผลทรงกระบอก คล้ายผลมะเฟือง เนื้อจะมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแห้ง ไม่เละ รสหวานมันครีมมี่ กลิ่นหอมไม่แรง และที่สำคัญเมล็ดลีบ และอีกด้านหนึ่งมีฉายาว่า “ทุเรียนเทวดาเลี้ยง” เพราะปลอดสารพิษ มีพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกบนภูเขาสูง

ในปีนี้ผลผลิตออกมารุ่นแรกช่วงปลายเดือนเมษายน- พฤษภาคม และจะเว้นช่วงรุ่น 2 จะออกปลายเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม ซึ่งทาง ททท.จะจัดแคมเปญร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และสวนทุเรียน ในชื่อ “Eat ตะระดุต..อุตรดิตถ์” เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืน โดยมีการแจกคูปองมีมูลค่า 150-200 บาท ไปเลือกใช้บริการที่ร้านอาหารที่มีเมนูทุเรียน หรือไปที่สวนทุเรียนที่จัดบุฟเฟ่ต์ในราคา 399 บาท 599 บาท และ 999 บาทต่อหัว ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เพิ่มแรงจูงใจให้พักค้างคืนและสัมผัสบรรยากาศความเป็นเมืองผลไม้ของจังหวัด ซึ่งอุตรดิตถ์เที่ยวได้ทั้งปี

 

ทุเรียน“หลิน-หลงลับแล” คึกคัก  ล้งแย่งซื้อดันราคาพุ่งโลละ 300 อัพ

ขณะที่นางจรูญ เพ็ชร์พิชัย ผู้ประกอบการล้ง ร้านเจ๊ฝนผลผลไม้ หัวดง เมืองลับแล และเจ้าของสวนเพ็ชร์พิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ทุเรียนหลง-หลินลับแล จะขายเป็นกิโลฯ ชาวสวนไม่ขายแบบเหมาสวนแบบภาคตะวันออก เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงมาก มีเท่าไรซื้อไม่อั้น ยิ่งมีล้งจีนมาแย่งซื้อด้วยแล้วยิ่งทำให้ราคาพุ่งแรงมากขึ้น เป็นผลดีต่อชาวสวน หาก ททท.จัดงานคงไม่เข้าร่วม เพราะแค่ขายในประเทศและส่งออกก็มีของไม่พอแล้ว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 16-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567