ธุรกิจมืดดิ้น!  ขึ้นค่าจ้างบัญชีม้าหัวละหมื่นบาท

15 พ.ค. 2567 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 15:06 น.

ปปง.ระบุ สถานการณ์เปิดบัญชีม้าไม่แผ่ว แถมค่าหัวเพิ่มรายละ 1 หมื่นบาท จากเดิมจ่ายแค่ 3 พันบาทต่อรายเท่านั้น รุดประสานแบงก์ปิดช่องทางออนไลน์ หลังพบกว่า 1 แสนบัญชีเสี่ยง ชี้ธุรกรรมที่มีเหตุอันควร สงสัย 5 เดือนพุ่ง 122% เตือนรับมือขบวนการ หลอกลวงประชาชนงัดสารพัดรูปแบบ

บัญชีม้า” เป็นอีกหนึ่งปัญหาธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นช่องทางการโอนผ่านเงินของบรรดามิจฉาชีพในการทำอาชญากรรมทางการเงินต่างๆ ซึ่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ระบุว่า ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตร หรือ e-wallet เป็นบัญชีม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าว เพื่อให้มีการซื้อขายบัญชีเงินฝาก หรือ e-wallet ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ค่าหัวเปิดบัญชีม้าพุ่ง 

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ระบุว่า ปัจจุบันมูลฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน จะครอบคลุม 29 มูลฐาน โดยหลักๆ 5 มูลฐานที่พบได้แก่

  1. การทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ
  2. ยาเสพติด
  3. การพนันหรือการพนันออนไลน์ /เว็บพนัน (ที่มีวงเงินตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป)
  4. ความผิดทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  5. หลอกลวงประชาชน ซึ่งมีทุกรูปแบบ 

“การหลอกลวงประชาชน ส่วนใหญ่ใช้บัญชีธนาคารในการโอนเงิน โดยเฉพาะการจ้างคนเปิดบัญชีม้า ซึ่งสถานการณ์รับจ้างเปิดบัญชีม้ายังคงมีอยู่และเพิ่มค่าจ้างเป็นหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นมากจากที่ผ่านมา เคยว่าจ้างกันตกประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อบัญชี ซึ่งปปง.ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกจำนวนมากกว่า 1 แสนบัญชี ทางปปง.มองว่า เป็นบัญชีเสี่ยงและได้ส่งบัญชีเหล่านั้นให้สถาบันการเงินเพื่อพิจารณาปิดช่องทางออนไลน์แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ธุรกิจมืดดิ้น!  ขึ้นค่าจ้างบัญชีม้าหัวละหมื่นบาท

ทั้งนี้ธนาคาร เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งมีหน้าที่ในการรายงานธุรกรรม 3  ประเภทคือ ธุรกรรมที่ใช้เงินสด ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน และธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ซึ่งรายงานล่าสุดของปปง. ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า มีรายงานธุรกรรมรวม 2.64 ล้านรายการ เพิ่มขึ้น 202,135 รายการหรือ 8.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 2.42 ล้านรายการ 

พบธุรกรรมสงสัยเพิ่ม133% 

ในจำนวนธุรกรรมรวมดังกล่าวพบว่า มีรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 32,315 รายการเพิ่มขึ้นกว่า 133.11% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วอยู่ที่ 13,862 รายการ ซึ่งมาจากธนาคารกว่า 30,972 รายการ สำนักงานที่ดิน 246 รายการและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 อีก 206 รายการ 

ส่วนของธุรกรรมที่รายงานจากธนาคารมีทั้งสิ้น 2.61 ล้านรายการเพิ่มขึ้น 8.27% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยพบว่า มีธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 30,972 รายการเพิ่มขึ้น 17,812 รายการหรือ 153.35% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 13,160 รายการ และธุรกรรมที่ใช้เงินสด 81,277 รายการเพิ่มขึ้น 2,472 รายการหรือ 3.14% 

ขณะที่ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน 12,450 รายการลดลง 1,006 รายการหรือลดลง 7.48% และธุรกรรมที่เป็นการโอนเงินหรือชำระทางอิเล็กทรอนิกส์ 2,310,474 รายการ ลดลง 180,755 รายการหรือลดลง 7.26% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 2,491,229 รายการ 

อย่างไรก็ตาม เมื่่อพิจารณาช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (1ต.ค.2566-เดือนก.พ.2567) พบว่า รายงานการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยมีจำนวน 165,790 ธุรกรรม เพิ่มขึ้น 122.24% จาก 74,598 ธุรกรรมเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในงบประมาณปีที่แล้ว สอดคล้องกับรายงานประจำปี 2566 รายงานการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย มีแนวโน้มจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

เห็นได้จาก 129,875 รายการในปีงบประมาณ 2464 เพิ่มเป็น 164,512 รายการในปีงบประมาณ 2565 และ 244,315 ธุรกรรมในปีงบประมาณ 2566 หรือเพิ่มขึ้นถึง 79,803 รายการหรือเพิ่มขึ้นถึง 48.5% จากงบประมาณปีก่อน  

ทั้งนี้ สำนักงานปปง. ได้รับรายงานการทำธุรกรรมงบประมาณปี 2566 (1ต.ค.2565-30ก.ย.2566) รวมทั้งสิ้น 30,619,386 ธุรกรรม จำนวนผู้มีหน้าที่รายงานธุรกรรม 22,368 ราย แบ่งเป็น ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 สถาบันการเงิน 5,852 ราย และผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 จำนวน 16,516 ราย  

ปีงบ 66 ยึดทรัพย์7.6พันล้าน 

รายงานประจำปีงบประมาณ 2566 (1ต.ค.2565-30 ก.ย. 2566) สำนักงาน ปปง. เผยแพร่ ณ 26 เม.ย.2567) ระบุว่า ได้รับรายงานการทำธุรกรรมทั้งสิ้น 30,619,386 ธุรกรรม แบ่งเป็นรายงานการทำธุรกรรมที่ใช้เงินสด  1,259,733 ธุรกรธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน  253,820 ธุรกรรม ธุรกรรมที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทำงอิเล็กทรอนิกส์ 28,846,924 ธุรกรรม ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย  244,315 ธุรกรรม ธุรกรรมเงินสดผ่านแดน 14,594 ธุรกรรม 

อย่างไรก็ตาม ปปง.ได้นำธุรกรรมที่ได้รับรายงานมาใช้ตรวจสอบและวิเคราะห์ธุรกรรม จำนวน 857,746 ธุรกรรม แบ่งเป็นรายงานการทำธุรกรรมที่ใช้เงินสด 42,638 ธุรกรรม รายงานการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน  3,003 ธุรกรรม รายงานการทำธุรกรรมที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทำงอิเล็กทรอนิกส์ 802,313 ธุรกรรม รายงานการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 8,868 ธุรกรรม และรายงานการทำธุรกรรมเงินสดผ่านแดน 924 ธุรกรรม และส่งผลการตรวจสอบและวิเคราะห์ธุรกรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 539 คดี 

ส่วนผลการดำเนินการกับทรัพย์สินตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542 คณะกรรมกำรธุรกรรมได้มีคำสั่งมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สิน 1,033 คำสั่ง คำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน 231 คำสั่ง 176 รายคดี มูลค่าทรัพย์สิน 9,389,611,675.48 บาท และคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน 35 คำสั่ง มูลค่าทรัพย์สิน 62,036,731.09 บาท 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่มีการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย 67 เรื่อง มูลค่าทรัพย์สิน 1,025.52 ล้านบาท และเรื่องที่มีมติเห็นชอบให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อศาล  163 เรื่อง มูลค่าทรัพย์สิน 6,947.33 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อัยการได้พิจารณายื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน 183 เรื่อง มูลค่าทรัพย์สิน 7,662.09 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 149.25% จาก 222 เรื่อง มูลค่าทรัพย์สิน 3,073.96 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 คดีที่อยู่ในขั้นตอนของอัยการ 185เรื่อง มูลค่าทรัพย์สิน 4,137.85 ล้านบาท

กรมพัฒน์พร้อมสอบเชิงลึก 

ต่อการรับจ้างเปิดบัญชีมาที่เป็นเส้นทางนำไปสู่การก่ออาชญากรรมออนไลน์ ของกลุ่มมิจฉาชีพที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกมาเปิดเผยว่า ได้พัฒนาจากการว่าจ้างชาวบ้านทั่วไปไปเปิดบัญชีกับธนาคาร โดยให้ค่าตอบแทนบัญชีละ 1,500-15,000 บาท เวลานี้มีการตั้งนิติบุคคลเพื่อรับจ้างเปิดบัญชีม้า โดยแก๊งมิจฉาชีพจะจ่ายให้บัญชีละ 1.5 แสนบาท ในเรื่องนี้กระทรวงดีอีจะมีการประสานงานกับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ที่รับจดทะเบียนนิติบุคลเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่เวลานี้ได้มีการจับกุมนิติบุคคลกรณีนี้ไปบ้างแล้ว 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากดีอีประสานมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพร้อมและยินดีช่วยในการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงดีอีและทางกรมฯ ก็มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลกันอยู่แล้ว หากจะขอรายละเอียดเพิ่มเติมก็พร้อมให้ความร่วมมือและร่วมตรวจสอบในเชิงลึก 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลทั่วไป จะระบุวัตถุประสงค์หลัก และวัตถุประสงค์ทั่วไป ในการประกอบธุรกิจ เวลาดำเนินการจริงอาจทำผิดวัตถุประสงค์ตามที่แจ้ง ส่วนหนึ่งสามารถตรวจสอบได้จากงบบัญชีประจำปีที่ต้องนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

“ตอนที่เขาจดทะเบียนตั้งนิติบุคคล อาจจะยังไม่มีการหลอกลวง แต่พอขอดำเนินการไปแล้วก็อาจจะมีกระบวนการอะไรที่หลอกลวงหรือทำผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาทางกรมฯก็มีการลดขั้นตอนต่างๆ ในการขอจดทะเบียนตั้งนิติบุคคลให้มีความง่าย หรือที่เรียกว่า Ease of doing business เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากจากกฎระเบียบของทางราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งเป็นคนละวัตถุประสงค์กัน อย่างไรก็ดียินดี ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเพื่อช่วยกันดูคนไทยไม่ให้ถูกหลอกและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ”นางอรมนกล่าว