นบข.นัดถก ดัน“ปุ๋ยคนละครึ่ง-ประกันภัยนาข้าว” ช่วยชาวนาอีก 3 หมื่นล้าน

15 พ.ค. 2567 | 13:32 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 13:56 น.

จับตาประชุม นบข. 21 พ.ค. “ภูมิธรรม”เป็นประธาน ดัน 2 โครงการใหญ่ “ปุ๋ยคนละครึ่ง-ประกันภัยข้าวนาปี”ช่วยชาวนาอีกกว่า 3 หมื่นล้าน ด้านนายกสมาคมชาวนาฯเสนอรัฐดันจำนำยุ้งฉางป้องกันข้าวทะลัก ทำราคาตกต่ำ ข้าวเปลือกหอมมะลิให้ 15,000 ข้าวเปลือกเจ้า 13,000 บาทต่อตัน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุม นบข.โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญเพื่อติดตามผลสรุปคดีความต่าง ๆ ในโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงพิจารณามาตรการช่วยเหลือชาวนา 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2567/68 หรือ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” คาดจะใช้งบประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท และโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 ประเมินจำนวน 22 ล้านไร่ คาดจะใช้งบฯกว่า 1,600 ล้านบาท รวม 2 โครงการกว่า 3.14 หมื่นล้านบาท

นบข.นัดถก ดัน“ปุ๋ยคนละครึ่ง-ประกันภัยนาข้าว” ช่วยชาวนาอีก  3 หมื่นล้าน

นอกจากมาตรการช่วยเหลือชาวนาแล้ว ยังมีวาระเพื่อพิจารณาปัญหาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/49 จังหวัดพิจิตร และการมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายให้ดำเนินการทางคดี ซึ่งแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสีข้าวต่างระบุว่า มีความแปลกใจ จากคดีดังกล่าวจะนำมาพิจารณาทำไมเพราะจบไปหมดแล้ว และผู้กระทำผิดก็ได้ยกโรงสีให้ธนาคารกสิกรไทย สาขาพิจิตร เพื่อชำระหนี้แล้ว

ปัจจุบันทางธนาคารได้ขายทอดตลาดโรงสีดังกล่าว ในราคา 80 ล้านบาท ให้กับนายวิรัตน์ ลิ่มทองสมใจ เจ้าของ บริษัท โรงสีสิงโตทอง ไรซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ที่เป็นผู้ซื้อกิจการและนำไปดำเนินการต่อแล้ว ซึ่งนายวิรัตน์เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รู้สึกแปลกใจที่จะฟื้นคดีดังกล่าว เพราะนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยหนึ่งในกรรมการ นบข. ก็โทรมาสอบถามด้วยความห่วงใยว่ามีอะไรจะให้ช่วยชี้แจงหรือไม่ ซึ่งตนบอกว่าไม่มี เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย ธนาคารนำโรงสีของลูกหนี้มาขายทอดตลาด ตนก็ซื้อตามปกติ และได้นำมาปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ถ้านำเรื่องนี้มาพิจารณาก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องอะไร

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้า หลังจากร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ไปทบทวน โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งเวลานี้ยังไม่สรุปว่าจะใช้ปุ๋ยกี่ตัน มีบริษัทใดผลิตได้ และที่สำคัญคงไม่อยากเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริต เพราะหากจะลดต้นทุนจริง ก็สามารถกำหนดสูตรปุ๋ยข้าวในท้องตลาดที่มีขายอยู่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการได้ เหมือนกับโครงการธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ แล้วให้เกษตรกรมาซื้อ แล้วรัฐค่อยชดเชยให้กับร้านค้า

“โครงการนี้มองว่าได้ไม่คุ้มเสีย และมีความเสี่ยงสูงที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต ซึ่งการกำหนดสุตรปุ๋ยต้องยอมรับว่าการกระทำแบบนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวนา หากกล่าวตามหลักการ การเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดี ใช้ปุ๋ยตรงสูตร แต่วิธีการ หรือแรงจูงใจที่จะให้ใช้ ปุ๋ยโดยให้ชาวนาออกค่าปุ๋ยครึ่งหนึ่ง ก็ไม่ใช่แรงจูงใจ เพราะปกติชาวนา ใช้เงินเชื่อหรือเงินสดในการซื้อปุ๋ยอยู่แล้วเป็นปกติ เชื่อว่าโครงการนี้คาดว่าจะมีกรรมการในนบข.ไม่เห็นด้วยหลายคน” แหล่งข่าว กล่าว

นบข.นัดถก ดัน“ปุ๋ยคนละครึ่ง-ประกันภัยนาข้าว” ช่วยชาวนาอีก  3 หมื่นล้าน

นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และประธานสภาเกษตรกร กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” หาก นบข.ผ่านมติเห็นชอบจริง มองว่าเป็นเรื่องดี เนื่องจากจะทำให้ราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดปรับตัวลดลง แต่กังวลในเรื่องคุณภาพปุ๋ย 2 สูตรที่จะนำมาใช้สำหรับโครงการ ได้แก่ สูตร 20-8-20 เหมาะสำหรับข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงสุด 633 กก.ต่อไร่ และปุ๋ยสูตร 25-7-14 เหมาะสำหรับข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงให้ผลผลิตสูงสุด 900 กก.ต่อไร่ ส่วนผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ 2 แสนครัวเรือน ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำและชนิดเม็ด และขึ้นบัญชีนวัตกรรม ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นในรูปแบบใด ในเรื่องนี้มองว่าควรจะมีปุ๋ยหลายสูตรให้ชาวนาได้เลือกใช้ และหากผู้ค้าปุ๋ยเข้าร่วมโครงการจำนวนมากจะดีมาก เพราะจะได้แข่งขันด้านราคา ชาวนาจะได้รับประโยชน์

ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกรรมการ นบข. กล่าวว่า จากการพิจารณาระเบียบวาระการประชุม นบข.ในครั้งนี้ มีโครงการที่จะช่วยเหลือชาวนา 2 มาตรการ คือ ประกันภัยข้าวนาปี และปุ๋ยคนละครึ่ง มองว่ายังไม่เพียงพอที่จะรับมือข้าวที่จะทะลักออกพร้อมกัน ดังนั้นจึงเสนอมาตรการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกโดยเก็บไว้ที่ยุ้งฉาง(จำนำยุ้งฉาง) มีเป้าหมายเพื่อดูดซับข้าวเปลือกออกจากตลาด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของเกษตรกรระหว่างรอขายผลผลิตให้ได้ราคาดี รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรในการเก็บรักษาและปรับปรุงข้าวเปลือกให้มีคุณภาพปริมาณ 4 ล้านตัน

 “ขอเสนอราคาที่เข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉาง ดังนี้ 1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาทต่อตัน 2.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 14,000 บาทต่อตัน 3.ข้าวเปลือกเจ้า 13,000 บาทต่อตัน และ 4.ข้าวเปลือกเหนียว 14,500 บาทต่อตัน จะทำให้เกษตรกรมีเครื่องมือต่อรอง ไม่เสียเปรียบพ่อค้าคนกลาง” นายปราโมทย์ กล่าว