เบื้องลึกครม. “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาท ทั่วประเทศ แรงงานแจงเหตุผล ยิบ

15 พ.ค. 2567 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 11:57 น.
858

เปิดเบื้องลึกครม. หารือถึงการปรับ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาท ทั่วประเทศ กระทรวงแรงงาน ชี้แจงเหตุผลอย่างละเอียดถึงเป้าหมาย ความจำเป็น และผลที่จะได้รับทั้งแรงงาน และเศรษฐกิจของประเทศ

การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล ล่าสุด กระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอรายงานความคืบหน้าของขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไทม์ไลน์ให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว ในการประชุมครม.สัญจร จังหวัดเพชรบุรี โดยมีการกำหนดเป้าหมายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างชัดเจนว่า จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

จากการตรวจสอบรายละเอียดข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่นำเสนอให้กับที่ประชุมครม. รายงานสาระสำคัญของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็น องค์กรไตรภาคีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน

 

นายกฯ แถลงมติครม.สัญจร เพชรบุรี รับไทราบไทม์ไลน์การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ

ล่าสุดในปี 2567 กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติเห็นชอบ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งแรก วันที่ 1 มกราคม 2567 ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดเพิ่มขึ้นในอัตรา ของทุกจังหวัดเพิ่มขึ้นในอัตรา วันละ 2-16 บาท เป็นอัตราวันละ 330-370 บาท โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้ออกประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2566

ครั้งที่สอง วันที่ 13 เมษายน 2567 ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม ใน 10 ท้องที่ เป็นอัตราวันละ 400 บาท โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้ออกประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประเภทกิจการโรงแรม ลงวันที่ 27 มีนาคม 2567

ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน ระบุว่า เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพของผู้ใช้แรงงานมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น หรือมีการปรับลดขนาดหรือปริมาณลง จึงควรมีการทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างเป็นไปด้วยความรอบคอบ เหมาะสม เป็นธรรม อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้ผลการพิจารณานำไปสู่ข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข 

โดยเชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป กระทรวงแรงงาน จึงขอรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ดังนี้

1. กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้า ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 (เดือนเมษายน - มิถุนายน 2567)

2. กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (เดือนพฤษภาคม 2567)

3. กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา กรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้การประชุม ของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ (เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567)

4. กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา ข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 และเสนอ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ (เดือนกันยายน - ตุลาคม 2567)

สำหรับประโยชน์และผลกระทบของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ กระทรวงสรุปความสำคัญ ดังนี้

  • แรงงานมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ผู้ประกอบการ สามารถลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะจูงใจให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบการจ้างงานมากขึ้น
  • การเพิ่มค่าจ้างอาจหนุนการปรับโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม และสนับสนุนให้ แต่ละภาคส่วนได้รับผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
  • การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะสนับสนุนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการค่าจ้างตาม เพื่อคุ้มครองแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานที่เข้าสู่ ตลาดแรงงานใหม่ในปี 2567 – 2568รวมถึงแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับความเดือดร้อน จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น 

ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท จะเป็นการบรรเทาปัญหา ค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ทั่วประเทศ จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศในครั้งนี้