นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ. ) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินการร่วมกับ 6 หน่วยงานภาครัฐบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติในพื้นที่ โดยเฉพาะการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สถานประกอบการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ ปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะ กนอ. ให้ความสำคัญกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กนอ. โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรม และยังเป็นการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนั้น ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการในกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สนับสนุนให้สถานประกอบการมีระบบค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และส่งเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม
วมถึงส่งเสริมให้สถานประกอบการเปิดโอกาสให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้ผ่านการบำบัดรักษา กลับเข้าทำงาน โดยหวังว่าจะลดปัญหาการใช้ยาเสพติดในนิคมอุตสาหกรรม ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย และสนับสนุนการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด
ส่วนบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมีการแบ่งแยกการดำเนินงาน ประกอบด้วย
กนอ.จัดทำแผนรณรงค์และสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ดำเนินการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด พร้อมให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัดเข้าทำงาน สนับสนุน รณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแก่แรงงานและสถานประกอบการ รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้รับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน(CSR) จัดฝึกอบรมวิทยากรแกนนำของสถานประกอบการเพื่อถ่ายทอดความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแก่ผู้ใช้แรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งเสริมหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและพื้นที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ บูรณาการและวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สนับสนุนให้สถานประกอบการมีระบบการจัดการด้านยาเสพติด เช่น มาตรฐาน มยส.,โครงการโรงงานสีขาว และกิจกรรม To Be Number One สนับสนุนให้สถานประกอบการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ส่งเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม และให้โอกาสรับผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดเข้าทำงาน
กรมการปกครอง ให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ บูรณาการวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน จัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด/อำเภอ ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการเพื่อให้คำแนะนำ สร้างการรับรู้แก่สถานประกอบการ สร้างกลไกเฝ้าระวังในสถานประกอบการ และบริเวณโดยรอบสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่รอบสถานประกอบการ เพื่อร่วมป้องกันและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สปส.) สนับสนุนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการการดำเนินงานภายใต้โครงการปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด โดยร่วมมือกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ สนับสนุนด้านบุคลากร วิชาการ ข้อมูล และให้คำปรึกษาด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสม รวมทั้งจัดบริการตรวจคัดกรองและบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดตามเกณฑ์มาตรฐานดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดร่วมกับผู้ประกอบการ และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม
กรมการแพทย์ ประกอบด้วย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ร่วมกำหนดนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและพื้นที่ สนับสนุนการดำเนินงาน ร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม วางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้ข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดแก่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการป้องกันและบำบัดรักษายาเสพติดแก่บุคลากรของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนบุคลากรเข้าตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ เพื่อค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และการประสานส่งต่อผู้เสพ/ผู้ติด เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดอย่างเหมาะสม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและพื้นที่ สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม และประสานบูรณาการ วางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สนับสนุนบุคลากรเข้าร่วมปฏิบัติการตรวจค้นและตรวจตราสถานประกอบการ เพื่อค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ตรวจค้นพื้นที่เสี่ยงทั้งภายในและบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ควบคุมการบังคับใช้กฎหมาย จับกุมผู้ค้า เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดในสถานประกอบการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรในสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อป้องปรามและพัฒนาระบบเฝ้าระวังให้แก่สถานประกอบการ
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นหน่วยงานกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนสถานประกอบการดำเนินกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ โดยให้สำนักงาน ปปส. ภาค 1 - 9/กทม. สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม ให้คำปรึกษา/แนะนำเกี่ยวกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายหรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
"ความร่วมมือดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่ 7 พฤษภาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2570 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570)"