“พาณิชย์” แถลงส่งออกเดือน มี.ค. 67 ติดลบ 10.9%

29 เม.ย. 2567 | 09:43 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2567 | 14:54 น.
1.5 k

สนค. แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ เผยตัวเลขส่งออกไทย เดือนมีนาคม 2567 หดตัว 10.9% ติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ขณะที่ตัวเลขส่งออก 3 เดือนแรกของปี มูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2%

วันที่ 28 เมษายน  2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมีนาคม 2567 ว่า การส่งออกของไทยมีมูลค่า  24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,163.3 ล้านดอลลาร์

การส่งออกเดือนมีนาคม 2567ที่ติดลบเกิดจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนและขยายตัวต่ำ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่

อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้สภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุปทานของสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้า

ทั้งนี้ภาพรวม 3 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกและภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง สำหรับภาคการผลิตโลกยังคงทยอยฟื้นตัวส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า การทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ ๆ เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ฟื้นตัวล่าช้า

ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อหาแนวทางลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป