นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สั่งการให้คุมเข้มการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดเข้ามาในราชอาณาจักรจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษพญานาคราช ที่ทำงานบูรณาการตรวจร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมศุลกากร ตำรวจ ทหาร มหาดไทย และหน่วยงานความมั่นคงอื่น ๆ
เฉพาะอย่างยิ่ง ด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตร ที่ต้องคุมเข้ม ควบคุมป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมถึงการเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืช โดยทำการตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดอย่างเคร่งครัด ทำการเปิดตรวจตู้ 100% ทุกชิปเม้นท์ หากพบแมลงศัตรูพืช ให้ดำเนินการส่งกลับ หรือเผาทำลายทันทีทั้งชิปเม้นท์ และได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการร่วมปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
ประเทศไทยมีการนำเข้าข้าวโพด โดยผ่านด่านตรวจพืชต่อไปนี้ ด่านตรวจพืชแม่สอด ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง ด่านตรวจพืชท่าเรือกันตัง ด่านตรวจพืชแม่สาย ด่านตรวจพืชบึงกาฬ ด่านตรวจพืชท่าเรือสงขลา ท่านตรวจพืชอรัญประเทศ ด่านตรวจพืชท่าเรือระนอง ด่านตรวจพืชท่าลี่ ด่านตรวจพืชทุ่งช้าง ด่านตรวจพืชนครพนม ด่านตรวจพืชจันทบุรี ด่านตรวจพืชเชียงของ ด่านตรวจพืชเชียงแสน ด่านตรวจพืชหนองคาย ด่านตรวจพืชมุกดาหาร และด่านตรวจพืชลาดกระบัง ตามลำดับ
ทั้งนี้ วันที่ 24 เมษายน 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร นายดิเรก คชารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง นางสาวภิรมณ เจริญศรี หัวหน้าด่านตรวจพืชลาดกระบัง นายชัยชนะ นุ่นเส้ง หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ และ นางสาวสุวิชา หอมจันทร์ หัวหน้าด่านตรวจพืชอรัญประเทศ ได้ลงพื้นที่ดเพื่อมอบนโยบายให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบังโดยมีนายชณาดลย์ สัตธนภัทร ให้การต้อนรับเพื่อติดตามการปฏิบัติงานการตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อป้องกัน ควบคุม เฝ้าระวัง โรค และศัตรูพืชที่อาจจะติดมา ที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของ ศัตรูพืชร้ายแรง ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่พืชเศรษฐกิจ และระบบการผลิตพืชของประเทศไทย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นำเข้าต้องผ่านการวิเคราะห์ ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงประกาศ กรมวิชาการเกษตร ที่เกี่ยวกับการนำเข้าข้าวโพด ปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สหภาพเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์โดยในปี 2566 มีการนำเข้ารวมประมาณ 1,161,034 ตัน มูลค่าประมาณ 13,285.6 ล้านบาท
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าข้าวโพด ปัจจุบันมีการนำเข้า ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง ด่านตรวจพืชแม่สอด ด่านตรวจพืชแม่สาย และด่านตรวจพืชอื่น ๆ ทั่วประเทศบทบาทหน้าที่ของด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตร นอกจากจะควบคุมการนำเข้า ณ ด่านที่กำหนดแล้ว อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชทั่วประเทศทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อื่นๆได้แก่ กรมศุลกากร ด่านอาหารและยา หน่วยงานความมั่นคง และองค์กรปกครองในพื้นที่ เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากมาตรการคุมเข้มการนำเข้าข้าวโพดอย่างเข้มข้นแล้ว กรมวิชาการเกษตร ยังมีการนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAPPM2.5 Free) มาใช้เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชและการเปลี่ยนพืชที่มีการเผา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ข้าว ในพื้นที่สูงละลดการบุกรุกป่า จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด เป็นต้นเพื่อสร้างรายได้จากพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน ร่วมกับการกำหนดมาตรการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตรทั้งระยะสั้น และระยะยาว
อาทิ มาตรการระยะสั้น การประชาสัมพันธ์ร่างประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา เพื่อลดปัญหาฝุ่นPM2.5 (PM2.5FreePlus) เพื่อนำไปสู่การดำเนินความร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ในการรับข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผาและมาตรการระยะยาวกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชข้าวโพด ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เบื้องต้นกำหนดเป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างการรับรู้และแนวทางปฏิบัติให้แก่เกษตรและผู้ประกอบการ จากนั้น จึงจะพิจารณากำหนดเป็นมาตรฐานบังคับต่อไป นอกจากนี้ พิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการและเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการเผา และร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่าง การพิจารณา คือ ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด พ.ศ. ....
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวตอนท้ายว่า นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สั่งการให้ กรมวิชาการเกษตร เข้มงวดในการตรวจสอบ กักกัน และดำเนินคดีสินค้าเกษตรเถื่อนผิดกฎหมาย ซึ่งตนได้กำชับ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดำเนินการตามนโยบายอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับการนำเข้ามะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายที่กระทรวง พาณิชย์กำกับดูแล ได้กำหนดด่านนำเข้าเพียง 2 ด่าน คือ ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพ ดังนั้น การนำเข้าต้องแจ้งนำเข้า ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง และด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ เท่านั้น
รวมถึงหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่เป็นประธานการประชุม “ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออกฤดูการผลิตปี 2567” ณ จังหวัดจันทบุรีเพื่อคุมเข้มคุณภาพผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด ลำไย) และตรวจสอบมาตรฐาน GMP โรงคัดบรรจุและมาตรฐาน GAP สวนผลไม้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูการส่งออกผลไม้คุณภาพภาคตะวันออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสั่งการ ทีมพญานาคราชร่วมกับทีมสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัด ลุยตรวจเข้ม 100% หากตรวจพบทุเรียนอ่อน และผลไม้ไม่มีคุณภาพ สั่งยึดอายัดใบ GMP/GAP ทันที