เว็บไซต์กรมสรรพากร รวบรวม 9 คำถามที่พบบ่อย เพื่อเคลียร์ข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิจ้างงานผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เพื่อให้บริษัทเอกชนนำไปประกอบการตัดสินใจในการรับผู้สูงอายุเข้ามาทำงาน
โดยรายละเอียดของการใช้สิทธิจ้างงานผู้สูงอายุทั้ง 9 ข้อ มีดังนี้
1.ใครสามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 นี้ได้บ้าง
- บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเข้าทำงาน โดยมีรายจ่ายเพื่อการจ้างงานไม่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือนในแต่ละราย
- ทั้งนี้ เฉพาะการจ้างผู้สูงอายุในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
2.คุณสมบัติของลูกจ้างผู้สูงอายุ
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย
- มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- เป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างก่อนแล้ว หรือเป็นผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
- ไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างงานผู้สูงอายุดังกล่าว หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน
3.รายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุได้แก่รายจ่ายใด
รายจ่ายที่เป็น เงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์ที่คำนวณได้เป็นเงิน ภาษีอากรที่ผู้จ่ายออกแทนให้ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แต่ไม่รวมถึง รายจ่ายที่ต้องจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดขึ้น เช่น เงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
4.ค่าจ้างงานผู้สูงอายุรายที่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือน จะสามารถใช้สิทธิส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาท ได้หรือไม่ เช่น บริษัทจ้างผู้สูงอายุ 16,000 บาท จะใช้สิทธิหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับ 15,000 บาท ได้หรือไม่
ไม่สามารถนำรายจ่ายจากการจ้างงานผู้สูงอายุรายที่จ้างเกิน 15,000 บาทต่อเดือน มาใช้สิทธิ หักเป็นรายจ่าย 2 เท่าได้ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 เช่น บริษัทมีลูกจ้างผู้สูงอายุ 2 ราย
- รายที่ 1 ค่าจ้าง 15,000 บาท บริษัทสามารถใช้สิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าดังนั้น หักรายจ่ายได้ 30,000 บาท
- รายที่ 2 ค่าจ้าง 16,000 บาท บริษัทไม่สามารถใช้สิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าได้ แต่ยังคงหักรายจ่ายตามปกติ 1 เท่าได้ดังนั้น หักรายจ่ายได้ 16,000 บาท
5. ผู้สูงอายุเป็นลูกจ้างมากกว่า 1 แห่ง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 ได้เพียงบริษัทเดียว โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้สูงอายุเข้าทำงานก่อนจะเป็นผู้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
6. หากรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุเกิน 15,000 บาท เพียงบางเดือน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 ในเดือนที่ไม่เกิน 15,000 บาท ได้หรือไม่
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธินำรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุเฉพาะในเดือนที่มีการจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท มาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 290) ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560
7. ลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณหาจำนวนลูกจ้างผู้สูงอายุที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 นั้น ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือไม่
- ลูกจ้างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่จำต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ต้องทำงานเต็มเดือนในประเทศไทยในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
8.คำว่า “ที่ทำงานเต็มเดือนในแต่ละเดือน” ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 290) ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560 มีความหมายว่าอย่างไร
- ที่ทำงานเต็มเดือนในแต่ละเดือน” หมายถึง ความเป็นนายจ้าง ลูกจ้างต้องมีอยู่เต็มเดือนในแต่ละเดือน หรือ สัญญาจ้างแรงงานมีอยู่ตลอดเดือนในแต่ละเดือน
9. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 จะต้องจัดทำรายงานใดบ้าง
- จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจ้างงานผู้สูงอายุ ที่จะนำมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามแบบที่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 290) ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยให้เก็บรักษารายงานดังกล่าวไว้ ณ สถานประกอบการ
- แจ้งข้อมูลของผู้สูงอายุ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะนำมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบแจ้งการใช้สิทธิ บนระบบเครือข่ายของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th
ที่มาข้อมูล : กรมสรรพากร