กรมวิทย์ ต่อยอดงานวิจัย เครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา

23 เม.ย. 2567 | 13:20 น.

กรมวิทย์ จับมือ บริษัท ดร.ซีบีดี ร่วมต่อยอดงานวิจัยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และมะหาด พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อบำรุงหนังศีรษะและเส้นผม สู่ท้องตลาดภายใต้แบรนด์คนไทย หวังเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย สร้างเศรษฐกิจประเทศ

23 เมษายน 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคแคนนาบิไดออลและออกซีเรสเวอราทรอล เพื่อบำรุงหนังศีรษะและเส้นผม ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับบริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายพรชัย ปัทมินทร กรรมการบริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว โดยมีคณะผู้บริหารทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย จ.นนทบุรี 

นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และมะหาด ผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากลขึ้น โดยศึกษาวิธีการเตรียมสารสกัดจนได้สารแคนนาบิไดออล(Cannabidiol, CBD)และออกซีเรสเวอราทรอล(Oxyresveratrol) ที่มีความบริสุทธิ์สูง

นำมาพัฒนาสูตรตำรับเป็นผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคแคนนาบิไดออลและออกซีเรสเวอราทรอล ที่มีประสิทธิภาพช่วยบำรุงหนังศีรษะ ลดอาการผมขาดหลุดร่วง ผมแห้งเสีย หนังศีรษะแห้งหรือหนังศีรษะมัน และช่วยปรับสมดุลให้หนังศีรษะ เสริมสร้างรากผมให้แข็งแรงขึ้น ฟื้นบำรุงเส้นผม และหนังศีรษะให้มีสุขภาพดี 

ผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัครแล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ มีคุณภาพและประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สนใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่ผ่านระบบการวิจัยสมัยใหม่ตามมาตรฐานสากล

กรมวิทย์ ต่อยอดงานวิจัย เครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา

ปัจจุบันองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีให้มีความคล่องตัว สามารถสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวแก่บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ในครั้งนี้ เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการถ่ายทอดไปผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

เป็นการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของไทย เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับผู้บริโภค และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์นี้ได้มากยิ่งขึ้นเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ถือเป็นก้าวที่สำคัญของสมุนไพรไทย ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสามารถออกมาจำหน่ายในท้องตลาดได้เร็ว ๆ นี้ นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย