‘อบจ.ปทุมธานี’ทุ่ม3หมื่นล้าน ดัน5โมโนเรลเชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้ากทม.

20 เม.ย. 2567 | 11:07 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2567 | 09:34 น.
21.8 k

อบจ.ปทุมฯ “บิ๊กแจ๊ส” ทุ่ม 3 หมื่นล้าน ปูพรมรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) 5 เส้นทางเร่งด่วน เชื่อมโครงข่ายกทม. แก้รถติด มอบ 4 มหาวิทยาลัยดังศึกษา ออกแบบ รับวิกฤตจราจร-การเปิดสวนสัตว์แห่งใหม่

วิกฤตจราจรในจังหวัดปทุมธานี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ตามการขยายตัวของเมือง โดยจังหวัดและท้องถิ่นมีความพยายามผลักดันโครงข่ายระบบราง เชื่อมเข้าสู่กรุงเทพมหานครแบบไร้รอยต่อ แต่ต้องยกเลิกโครงการออกไป เนื่องจากแนวเส้นทางไม่สามารถเชื่อมต่อกันล่าสุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) ผลักดันโครงการรูปแบบดังกล่าวอีกรอบ รูปแบบ รถไฟฟ้ารางเดี่ยว(โมโนเรล) จำนวน 5 เส้นทาง ประเมินมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายเชื่อมโยงการเดินทางระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บริเวณรังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณคูคต เข้าด้วยกัน

 โดยจัดสัมมนาฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี มีนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังมากกว่า 400 คน ณ ห้องประชุมนครรังสิต 2-3โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เมื่อไม่นานมานี้

สัมมนาฟังความคิดเห็นครั้งที่1

นายพงศธร กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แม้ว่าโครงการ อาจจะไม่เสร็จใน 2 ปี 3 ปี แต่หากไม่เริ่มนับหนึ่งประเมินว่า อีก 10 ปีอาจไม่ได้ดำเนินการ เพราะปัญหาของปทุมธานีวันนี้คือการจราจร ที่แก้ไขในระดับอำเภอ ตำรวจแก้จราจรแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่หากแก้แบบโครงสร้างต้องเอาระบบขนส่งมวลชนมาช่วย จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะปทุมธานีอยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร ความเจริญต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาทำให้เกิดความหนาแน่น ผิวจราจรก็เท่าเดิม วันนี้เป็นการนับหนึ่งที่น่าชื่นชม

 โดยแนวเส้นทาง บริษัทที่ปรึกษานำเสนอเบื้องต้น ประกอบด้วย 5 เส้นทาง เส้นทาง A สถานีรังสิต-สวนสัตว์แห่งใหม่ (คลอง6) เส้นทาง B รังสิต-ปทุมธานี เส้นทาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สวนสัตว์แห่งใหม่ เส้นทางD สถานีคลองสี่(สายสีเขียว)-รังสิต-นครนายก เส้นทางE รังสิต-นครนายก-คลองหลวง (ดูจากแผนที่เส้นทาง)

แนวเส้นทางโมโนเรลปทุมธานี ตามข้อเสนอบริษัทที่ปรึกษา

 

แหล่งกิจกรรมเมืองปทุมธานี

 พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล 5 เส้นทางว่าโครงการดังกล่าวผ่าน การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่1เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องรอผลการศึกษา ซึ่ง จังหวัดปทุมธานี

ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี เพื่อตอบสนองการพัฒนาโครงการให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาระดับประเทศและ แผนพัฒนาจังหวัดปทุมธานี จึงได้จัดทำ โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี ขึ้น

พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง

มอบหมายให้ที่ปรึกษาทั้ง 4 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันดำเนินการศึกษาและพัฒนา เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางระหว่างตัวเมืองกรุงเทพมหานครและจังหวัดปทุมธานี

โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว และแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ซึ่งในอนาคตจะมีโครงการส่วนต่อขยายตามแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อันจะนำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“การร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการเพื่อพัฒนาโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”

การสำรวจเพื่อกำหนดแนวเส้นทาง องค์ประกอบทางเทคนิค

 นายสมศักดิ์ วิริยะวงศานุกูล รองประธานหอการค้า จังหวัดปทุมธานีกล่าวว่าอยากเสนอให้มีเส้นทางเชื่อมจากคลองหลวง-เชียงรากเพิ่มเติม เพราะถ้ามีจะทำให้ครบลูปพอดี เป็นการเชื่อมเส้น B กับเส้น C ส่วนเส้น A รังสิต-นครนายก หากสร้างตามแนวริมคลอง น่าจะสะดวกกว่าสร้างบนถนนรังสิต-นครนายกที่กินผิวจราจร และเห็นว่าเส้นนี้เร่งด่วน โดยหากผนวกเป็นเส้นเดียวกับ D จะส่งผลดีเพราะเชื่อมสีแดงกับสีเขียว

    นายอนันต์ ยศพลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเมือง Rangsit Knowledge Center ภาคประชาสังคมปทุมธานี เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับแนวเส้นทางเบื้องต้นที่ทางที่ปรึกษาวางเป็นตุ๊กตา ทั้ง 5 เส้นทาง เพราะสะท้อนถึงการพัฒนาเมือง ควบคู่ไปกับการมีโครงสร้างพื้นที่ฐานระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder ) เข้าไปเสริม โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญของเส้นA และ D ที่เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงจากรังสิต กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คูคตเป็นโครงการเร่งด่วน ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ข้อดีของปทุมธานี จังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาตั้งอยู่มากที่สุด และมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับ 5 ของประเทศในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา

  เมื่อทำรถไฟฟ้าตามหลังกรุงเทพมหานคร จะได้ถอดบทเรียนความล้มเหลวของกรุงเทพมหานครมาปรับปรุงแก้ไขว่า ในการพัฒนาเมือง และระบบขนส่งมวลชนที่ไม่สอดประสานจึงทำให้กรุงเทพมหานครเผชิญวิกฤตจราจรแม้ว่าจะมีรถไฟฟ้าหลายสายก็ตาม การวางแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนระบบรองทั้ง5 สายของจังหวัดปทุมธานี ไปพร้อมกับการชี้นำการเติบโตของเมืองในอนาคตจึงถือว่ามาถูกทางแล้ว ส่วนระบบรถที่จะนำมาใช้ ถ้าเป็นโมโนเรล ที่หลายเมืองสำคัญๆ ในโลกก็ใช้ระบบนี้ ซึ่งลงทุนไม่สูงทำให้ค่าโดยสารพอดีๆน่าจะเหมาะกับปทุมธานี

 “สมมติเส้นแรก A+D ระยะทางประมาณ 25-27 กิโลเมตร ชวนเอกชนมาลงทุน หากเป็นระบบโมโนเรล น่าจะกิโลเมตรละ กว่า1,000 ล้านบาท แปลว่า ในเส้นทางเร่งด่วน ใช้เงินลงทุน 27,000 ล้านบาท หรือไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ก็ปักหมุดรถไฟฟ้าปทุมได้ในยุคที่ผู้บริหารตระหนักต่อวิกฤตจราจร”

 นายวิเศษ กิตติสุนทร ผู้ประกอบการธุรกิจรถโดยสารในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งทำธุรกิจมานกว่า 30-40 ปีกล่าวว่า ตามเส้นทางที่จัดลำดับความสำคัญถือว่าตรงจุด เพราะกำลังเผชิญกับวิกฤตจราจร แต่จะเสนอว่าตามแนวรังสิต-นครนายก หากต้องมีตอม่อก็อยากให้สามารถรองรับหลายๆ โครงการ เพราะทราบว่ามีทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน เพื่อลดปัญหาผิวจราจร ในส่วนบริษัทมีความสนใจอยากทำงานร่วมกับที่ปรึกษาฯเพราะเดินรถในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดออกรถใหม่มา 70 คัน หากสามารถช่วยสนับสนุนการเดินทางของประชาชนน่าจะมีประโยชน์

  ด้านนายธีระวุฒิ กลิ่นกุสุม อดีตนายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวเสริมว่า เห็นด้วยกับการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล 5 เส้นทาง ของอบจ.ปทุมธานี แต่ หากดำเนินการต้องสามารถเชื่อมต่อโครงข่าย รถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร บริเวณคูคต

 ที่ผ่านมา ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี นครรังสิต เคยผลักดัน โครงการโมโนเรล จำนวน 3 เส้นทาง ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือ สนข. ไม่สามารถสรุปแนวเส้นทางลงตัวได้ และในที่สุดต้องยกเลิกไป เพราะ กรมทางหลวงไม่มีความชัดเจน ที่จะก่อสร้างและขยายเขตทาง ถนนรังสิต-นครนายก จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าจะวาง ระบบรถไฟฟ้า ของปทุมธานี ไว้บริเวณ ส่วนกึ่งกลาง หรือด้านข้างของเขตทาง

 แต่ผลการศึกษาครั้งที่ผ่านมาไม่มีความเหมาะสม แนวเส้นทางรถไฟฟ้าของปทุมธานีไม่เชื่อมต่อกับ สายสีแดง และไม่เชื่อมต่อสายสีเขียว เพราะหากไม่เชื่อมต่อกัน มองว่าไม่มีประโยชน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าท้องถิ่นจะลงทุนทำโครงการรถไฟฟ้าเอง แต่ พอเอาเข้าจริงอาจเหมือน กรุงเทพ มหานคร ที่ ไม่มีกำลังพอ ที่จะพัฒนาโครงการใหญ่ได้

 โดยช่วงแรกเห็นด้วยกับท้องถิ่น ลงทุนระบบรางเอง แต่ในที่สุดแล้วมีปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลาง สุดท้ายแล้วมองว่า ท้องถิ่นไม่ควรทำเอง เพราะจะมีปัญหาการเชื่อมระบบ การจ่ายเงิน ยกตัวอย่างอยู่รังสิตจะมาใช้สายสีแดง ไม่สามารถใช้ได้ ไม่มีจุดเชื่อม มีแต่ Shuttle Bus ซึ่งเป็นแค่รถสองแถว ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางมาใช้สายสีเขียว โดยเฉพาะปัญหากรมทางหลวง ก่อสร้างและขยาย ถนน รังสิต-นครนายก ยังไม่ลงตัว

 แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า กรณีที่อบจ.ปทุมธานีผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ในจังหวัดปทุมธานีทั้ง 5 เส้นทางนั้น ปัจจุบันรฟม.ยังไม่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในเรื่องนี้และยังไม่ทราบว่าต้องใช้งบประมาณจากไหนมาดำเนินการ เพราะขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และกระทรวงคมนาคม เป็นผู้พิจารณาให้รฟม.ดำเนินการได้หรือไม่

 “ส่วนความเป็นไปได้ที่จะเกิดโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลในปทุมธานีทั้ง 5 เส้นทางนั้น มองว่าคงรอดูผลการศึกษาก่อนว่าเป็นอย่างไร สามารถทำได้หรือไม่ หากให้รฟม.ดำเนินการ เชื่อว่าเรามีองค์ความรู้และความสามารถที่พร้อมดำเนินการอยู่แล้ว”

 

5เส้นทางรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ปทุมธานี