เอกชนเชียร์เงินดิจิทัล Q4 ลุ้นเบ่งจีดีพีโตเพิ่ม 0.5% กระทุ้งลดดอกเบี้ย

12 เม.ย. 2567 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2567 | 13:42 น.

เอกชนขานรับ รัฐแจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน Q4 บิ๊กหอการค้าฯ คาดช่วยเบ่งจีดีพีโตเพิ่ม 0.5% ระบุ 4 เดือนแรกเม็ดเงินเหือดหายจากระบบกว่าแสนล้าน ต้นเหตุทำเศรษฐกิจซึมยาว จี้รัฐเร่งเบิกจ่ายงบปี67 กระทุ้งลดดอกเบี้ย “แอตต้า” หวังครอบคลุมใช้จ่ายท่องเที่ยว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลง (10 เม.ย. 2567) หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 ว่า รัฐบาลประกาศขอเริ่มต้นการทำนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตในวันนี้

โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้าในไตรมาสที่ 3 และเริ่มต้นโครงการในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ซึ่งจะให้ครอบคลุมประชาชนที่ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน ใช้วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลปี 2567 และปี 2568 และเงินจากมาตรา 28 ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

เอกชนเชียร์เงินดิจิทัล Q4 ลุ้นเบ่งจีดีพีโตเพิ่ม 0.5% กระทุ้งลดดอกเบี้ย

  • ช่วยจีดีพีโตได้อีก 0.5%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาท สามารถดำเนินการได้จริงในไตรมาสที่ 4 มองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีให้มีความคึกคักมากขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยขยายตัวได้มากกว่าที่คาดไว้เดิมอีกประมาณ 0.3-0.5% ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมของไทยโตใกล้เคียง 2.7 - 3.5% ตามเป้าหมายที่หลายฝ่ายอยากเห็น

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ระหว่าง 2.8-3.3% (ยังไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต)

  • จี้เร่งเบิกจ่ายงบ-กระทุ้งลดดอกเบี้ย

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2567 มีภาพบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวก และราคาพืชผลทางการเกษตรค่อนข้างดีขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสนี้ จะเติบโตได้ 1.8-2.0% ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2 คาดจะเติบโตได้ 1.8-2.3% ย่อลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.0-2.5% เนื่องจากมีการสำรวจความเห็นของภาคเอกชน พบว่ายอดขายยังนิ่ง และซึมตัว โดยภาคหอการค้ามีข้อเสนอ ดังนี้

1.อยากให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 (3.48 ล้านล้านบาท) โดยเฉพาะงบลงทุน เนื่องจากไทยไม่ได้ใช้งบประมาณเป็นปกติมาตั้งแต่เมษายน 2566 ถึงปัจจุบัน ซึ่งโดยปกติงบลงทุนจะเข้ามาในระบบเศรษฐกิจประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่เศรษฐกิจไทยประคองการใช้จ่ายอย่างจำกัดมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 จนถึงเดือนเมษายนนี้ ทำให้ระหว่างนี้ประมาณการได้ว่ามีเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอาการซึม ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และเคลื่อนเม็ดเงินได้ในช่วงมิถุนายน เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 3-4 ของปีนี้

 2.ดูแลอัตราดอกเบี้ยและการสนับสนุนแหล่งเงินทุน ปัจจุบันภาคธุรกิจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงและสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ หอการค้าฯ จึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลอัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระของประชาชนและลดต้นทุนผู้ประกอบการ รวมถึงเสนอให้มีมาตรการใหม่ ๆ ช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น (เติมทุน แก้หนี้ และขยายกิจการ)

  • คุมราคาพลังงาน-รักษาโมเมนตัมท่องเที่ยว

3.ประคับประคองต้นทุนด้านพลังงาน ไม่ให้ซ้ำเติมผู้ประกอบการและประชาชน จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในระยะสั้นรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือ เฉพาะกลุ่มสำหรับผู้ประกอบการหรือประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่วนระยะกลางและระยะยาว เห็นได้ชัดว่าจำเป็นต้องปรับโครงสร้างค่าพลังงานของประเทศ เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นปัญหาซ้ำไปมาเช่นที่เกิดขึ้น

4.สร้างโมเมนตัมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในต้นปีที่ผ่านมา หอการค้าฯมองว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักของการหนุนเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นรัฐบาลควรจัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอำนวยความสะดวกการเดินทางเข้าประเทศ การเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอ การเร่งเจรจายกเลิกวีซ่าชั่วคราว หรือถาวร กับกลุ่มประเทศที่มีนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง

“ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลพยายามจัดอีเวนท์และเทศกาลต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ภาคเอกชนเห็นว่าควรเพิ่มการโปรโมท และสร้างการรับรู้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการวางแผนการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ตลอดทั้งปี”

  • ลุ้นเศรษฐกิจหมุนหลายรอบ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเลตเติมเงินให้กับประชาชนคนละ 10,000 บาทออกมาได้จริง จะทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น แต่จะกระตุ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ และกระตุ้นได้กี่ภาคส่วน ก็ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในภาคที่กำลังเดือดร้อนหรือไม่ หรือเป็นการกระตุ้นโดยรวม

ยกตัวอย่าง นำเงินดังกล่าวไปซื้อของ ต้องไปซื้อจากที่ไหนได้แค่ไหน ซื้อจากเกษตรกร ซื้อจากวิสาหกิจชุมชน หรือซื้ออะไรที่แบบชาวบ้านมากๆ ได้หรือไม่ ความหมายก็คือ อยากให้คนที่เดือดร้อนที่สุดได้รับประโยชน์มากที่สุดก่อน

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย

“เปรียบเทียบง่าย ๆ การแจกเงินดิจิทัลครั้งนี้ จะคล้ายกับตอนที่อเมริกาปล่อยคิวอี จะทำให้การหมุนเวียนของเงินเยอะขึ้น เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้เกิดการหมุนเวียนได้หลายรอบ คนนี้ไปซื้อคนนั้น คนนั้นไปซื้อคนโน้นต่ออะไรอย่างนี้ เพราะว่าคำว่าเศรษฐกิจคือการหมุนเวียนผ่านคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง และสุดท้ายวนกลับมาที่ตัวเอง”

  • หวังท่องเที่ยวได้อานิสงส์

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า เห็นด้วยกับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทที่จะแจกให้กับประชาชนโดยที่รัฐบาลจะใช้เงินจากงบประมาณประจำปี ไม่ได้ไปกู้มา เนื่องจากเป็นการอัดฉีดเงินลงระดับฐานราก ที่ในขณะนี้ประสบปัญหาข้าวยากหมากแพงจริง ๆ คนระดับกลางกับระดับบนอาจจะไม่รู้สึก แต่ร้านที่ค้าขายตามตลาดอย่างที่ระยองที่ตนเพิ่งไปมา ก็ปิดไปหลายร้าน ซึ่งไม่ใช่คนทุกที่จะหันไปขายของออนไลน์ได้ การมีเงินดิจิทัลมากระตุ้นก็เป็นสิ่งที่ดี

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวัง คือ การใช้เงินและกระบวนการตรวจสอบและการควบคุม ที่ต้องตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เพื่อใช้อุปโภค บริโภค ซึ่งช่องทางที่สะดวกที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วเป็นทุนใหญ่ แต่จะทำอย่างไรจะกระจายเงินไปถึงกลุ่มคนตัวเล็กได้มากที่สุด เพราะวันนี้ถ้าไม่ให้ไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีก สุดท้ายเงิน 5 แสนล้านบาทก็คงใช้ไม่หมด

“อีกทั้งแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาทในโครงการนี้ ที่จะใช้งบประมาณ ปี 2567 และปี 2568 การใช้เงินก็คงจะแบ่งการใช้ออกเป็นเฟส ๆ ก็ควรจะนำไปให้กลุ่มคนเปราะบางก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไป และถ้าจะให้ดี ก็อยากให้รัฐบาลทบทวนให้มีการใช้เงินดิจิทัล สำหรับการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวได้ด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายในการจองโรงแรม ก็จะทำให้เกิดความเท่าเทียม และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วย”

  • สมาพันธ์ SME หนุนเต็มสูบ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัลช่วงไตรมาส 4 มองว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีระยะเวลาการวางแผนเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่รัฐบาลวางเป้าหมายและสัญญากับประชาชนไว้

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

“ไตรมาสแรก ปี 2567 ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายย่อยที่มีสัดส่วนถึง 85% ของผู้ประกอบการทั้งหมดยังพบกับปัญหารายได้ที่ลดลง ซึ่งการดำเนินงานดิจิทัลวอลเล็ตยังคงต้องยึดแนวทางสำคัญของการดำเนินงานที่ถูกต้องตามข้อกฎหมาย โปร่งใสอย่างมีธรรมาภิบาล มีแหล่งที่มางบประมาณอย่างพอเพียง และไม่สร้างภาระให้กับประเทศและประชาชนในระยะยาว รวมทั้งต้องกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการเติบโตได้อย่างชัดเจนไปพร้อมกันด้วย”

ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลสำหรับการดำเนินการดิจิทัลวอลเล็ต ได้แก่

1.กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรกร และกลุ่มเปราะบาง โดยการกำหนดสัดส่วนการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตกับประเภทสินค้าให้มีความชัดเจน

 2.เร่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการฐานรากก่อนออกมาตรการ

3.การประชาสัมพันธ์สร้างความไว้วางใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตในฐานะผู้ขายเพิ่มมากขึ้น โดยมีการรับสมัคร อบรมสร้างความเข้าใจวิธีการ ขั้นตอน ขึ้นทะเบียนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว มาตรการทางภาษีและสิทธิประโยชน์เพื่อการส่งเสริมพัฒนาอย่างยั่งยืน

4.ภาครัฐควรส่งเสริมดิจิทัลวอลเล็ตในอนาคตให้เกิดการใช้ประโยชน์โดยมุ่งเป้าขยับทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถของภาคแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (โดยเฉพาะรายย่อย) สร้างความยั่งยืนและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ถูกยกระดับขึ้นในเวทีโลก

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3983 วันที่ 14 -17 เมษายน พ.ศ. 2567