สรุปผลตรวจ "กากแคดเมียม" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

07 เม.ย. 2567 | 17:13 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2567 | 17:34 น.
2.8 k

เปิดข้อมูล ปภ.และบก.ปทส ผลการตรวจสอบ "กากแคดเมียมอันตราย" ที่จังหวัดสมุทรสาคร-ชลบุรี พบข้อมูล 3 บริษัทเอกชนมีส่วนเกี่ยวข้องทำการซื้อขาย-รับฝาก เจ้าหน้าที่เร่งขยายต่อ

วันที่ 7 เม.ย. 67 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร (ปภ.สมุทรสาคร) ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับกากแคดเมียมและกากสังกะสี ระบุ 2 ข้อในรายงานว่า 

1. วันที่ 7 เมษายน 2567 เวลาประมาณ 13.00 น. ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงาน นายชัยวัฒน์  ตุนทกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พลตำรวจตรี วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นายประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ดร.สุบรรณ มานะวิทยาการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำจืด ผู้แทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สรุปผลตรวจ \"กากแคดเมียม\" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

เข้าร่วมตรวจสอบ บริษัท ชิน หงส์  เฉิน อินเตอร์เทค (2008) จำกัด ซึ่งได้ลงบันทึกประจำวันที่ สภ.(ย่อย) บางน้ำจืด ว่า ได้รับฝากของจาก บ. เจ แอนด์ บีเมททอล แต่ไม่ทราบว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ จึงขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ  

จากการเข้าร่วมตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงพบว่าเป็นกากอุตสาหกรรม ประเภทแคดเมียม จำนวน 1,034 ตัน ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้ทำการอายัดไว้แล้ว และผู้อำนวยการจังหวัด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 จะได้ออกประกาศห้ามมิให้บุคคลใด ๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงาน ดังกล่าว ต่อไป

2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานผลการตรวจปัสสาวะของพนักงานบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ทั้งสิ้น 11 คน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 พบว่ามีสารแคดเมียมในร่างกายเกินมาตรฐาน 

และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ประสานให้ผู้ป่วยทุกรายเข้ารับการรักษาในวันที่ 8 เมษายน 2567 เวลา 08.00 น. ณ โรงพยาบาลสมุทรสาคร เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

สรุปผลตรวจ \"กากแคดเมียม\" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

ผลสอบ บก.ปทส.เตรียมขยายผลจากการตรวจค้นที่จ.ชลบุรี 

 

วันนี้(7เม.ย. 67) ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นำหมายค้น เข้าตรวจค้นบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่6 ต.บางน้ำจืด อ.บางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร หลังขยายผลจากการเข้าตรวจค้นบริษัทในพื้นที่จังหวัดชลบุรี พบว่าแคดเมียมหลายพันตันถูกส่งไปจากโรงงานแห่งนี้

โดยจากการเข้าตรวจค้นพบว่า บริษัทแห่งนี้มีถุงบิ๊กแบ็คที่มีกากอุตสาหกรรมแคดเมียมเจือปนอยู่จำนวน 673 ถุง หรือทั้งหมด 1,034 ตัน ที่รับมาจากบริษัท เจแอนด์บีเมททอล จำกัด ซึ่งจัดอยู่ทั้งในตัวอาคารและด้านนอกของอาคาร 

สรุปผลตรวจ \"กากแคดเมียม\" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

จากนั้น อธิบดีกรมโรงงาน ได้ทำความเข้าใจกับ นายจาง ชาวจีน เจ้าของบริษัทฯ ว่าจะต้องตรวจนับ และเก็บตัวอย่างเพื่อยืนยันว่ามีองค์ประกอบตรงกับกากแคดเมียม และทำการอายัดไว้ทั้งหมด

ทั้งนี้หากพบว่า มีสารประกอบตรงกับแคดเมียมจะต้องกล่าวโทษดำเนินคดีตามขั้นตอน และสั่งห้ามเคลื่อนย้ายของทั้งหมด และได้ให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างกากอุตสาหกรรมไปทำการตรวจสอบ

โดยนายจาง เจ้าของบริษัท ระบุว่า ได้มีการขนย้ายถุงบิ๊กแบ็กมาไว้วันที่ 26-31 มี.ค. ซึ่งตอนแรกตนเองแจ้งกับบริษัทเจแอนด์บีฯ ว่า ไม่มีที่วาง แต่ บริษัทเจแอนด์บีฯ แจ้งว่า จะฝากไว้  1-2 สัปดาห์ แล้วจะมาขน ซึ่งตนเองได้ค้าขายกับบริษัท อยู่แล้ว ก็รู้จักเป็นเพื่อนทำธุรกิจ พอเขาว่าจะฝากไว้ 1-2สัปดาห์ ก็เลยคิดว่าไม่มีอะไรเลยให้ฝากไว้ ไม่คิดว่าจะเป็นข่าวใหญ่ และตอนนั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่าของข้างในมีทองแดง 

สรุปผลตรวจ \"กากแคดเมียม\" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

ด้านลูกของนายจาง อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากทราบข้อมูล และทางบริษัทเจแอนด์บีฯ จะมาเอาของประมาณวันอังคาร วันพุธ นี้ แต่ด้วยความร้อนใจเห็นข่าวเมื่อคืน จึงได้หารือกับฝ่ายกฎหมายและไปแจ้งความเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพราะบริษัทเจแอนด์บีฯ เอามาฝากโดยอ้างว่า โกดังที่เขาเช่าหมดสัญญา และรู้ว่าเป็นทองแดง ที่จะต้องมาคำนวนปริมาณขาย ซึ่งไม่เคยรู้เรื่องสารแคดเมียม หรือเรื่องวัตถุอันตราย

ซึ่งที่ผ่านมา ทำสัญญาซื้อขายกัน 5,000ตัน และ บริษัทเจแอนด์บี ขนไปชลบุรีแล้ว 4,000ตัน และมาฝากไว้ที่ตนเอง1,000 กว่าตัน

โดยการทำธุรกิจซื้อขายกากอุตสาหกรรม กว่า 5,000 ตัน ครั้งนี้ มีนายหน้าชื่อ "นายกิต" มาเสนอตนเองว่า บริษัทที่ จ.ชลบุรีต้องการทองแดง ทางตนเองก็เป็นฝ่ายจัดซื้อและมาพิสูจน์ว่ามีปริมาณเท่าไร โดยเป็นคนกลางไปดีลกับบริษัทเจแอนด์บีฯ ให้

จากนั้นบริษัทเจแอนด์บีฯ ก็ส่งของตรงไปให้ที่ จ.ชลบุรี กว่า 4,000ตัน ส่วนอีก1,000ตัน เนื่องจากยังไม่ได้จ่ายเงิน เลยเอามาฝากไว้ที่ตนเองก่อน

โดยนายจาง บอกว่า ตนเองก็เป็นนายหน้า เหมือนกัน และจะได้เงินจากค่าคอมมิชชั่น ซึ่งในทางสัญญา บริษัทที่ชลบุรี กับบริษัทเจแอนด์บี ทำสัญญาผ่านตนเอง แต่ทางขนส่ง บริษัทเจแอนด์บีฯ ก็ส่งตรง

สรุปผลตรวจ \"กากแคดเมียม\" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ส่วนต่างเงินที่ตนเองจะได้ เฉลี่ยกำไรประมาณ 300-500บาทต่อตัน โดยจะต้องหักความชื้นด้วย (**หากคำนวนจาก4000ตันที่ส่งไปแล้ว ก็จะประมาณ1.2ล้านบาทที่เป็นกำไร)

ขณะที่ พลตำรวจตรี วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ระบุว่า จากการเข้าตรวจสอบครั้งนี้ เกิดจากการขยายผล การตรวจค้นที่จังหวัดชลบุรี โดย หลิว เจ้าของกิจการที่จังหวัดชลบุรี ให้การว่า นายจาง ที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นนายหน้า ติดต่อประสานงานซื้อขาย จึงทำให้ได้ข้อมูลรวมถึงที่อยู่จนนำมาสู่การขอหมายศาลเข้าตรวจค้นในวันนี้ 

และจากการตรวจสอบเอกสารสัญญาซื้อขายทำให้พบว่า มีนายหน้าอีกหนึ่งคน ซึ่งจะมีการขยายผลสืบสวนสอบสวนว่านายหน้าคนดังกล่าวมีการเป็นนายหน้าให้กับบริษัทอื่นอีกหรือไม่ โดยจะตรวจสอบจากหลักฐานเอกสารประกอบในการขอหมายเข้าดำเนินการกับนายหน้า ซึ่งพบว่านายหน้าคนนี้เป็นคนไทย จะได้ค่านายหน้า 20 สตางค์ต่อ1กิโล

สรุปผลตรวจ \"กากแคดเมียม\" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ทาง ปทส. จะมีการแจ้งข้อหาในความผิด ตาม พรบ.วัตถุอันตราย ทั้ง 3 ที่ คือ บริษัทเจแอนด์บีฯ /บริษัทที่ จ.ชลบุรี และ บริษัทที่เข้าตรวจค้นวันนี้ และทางเจ้าของบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือในการนำเอกสารต่างๆมาให้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้น เข้าข่ายความผิดฐาน มีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครอง โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยเรื่องนี้ มีการตรวจสอบมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาเนื่องจากตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มที่มีการฝังกากแคทเมี่ยมไว้ควรจะปิดถาวร แล้วทำไมถึงมีการเคลื่อนย้าย แต่ภายหลังก็มีคน ลักลอบแอบขุดขึ้นมา จึงได้ตามสืบสวนสอบสวนมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วน นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุด้วยว่า เจ้าของบริษัทที่ทำการตรวจค้นในวันนี้ ถือว่า ให้ความร่วมมืออย่างดี เนื่องจากเป็นคนเข้ามามอบหลักฐานให้กับทางเจ้าหน้าที่เอง ซึ่งแม้จะถูกดำเนินคดี ก็อาจจะช่วยทำให้โทษเบาลง

สรุปผลตรวจ \"กากแคดเมียม\" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

สำหรับตัวเลขปริมาณกากอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตคือ 15,000 ตัน แต่ที่มีการขนส่งจริงประมาณ 13,000 ตัน  กระจายไปบริษัทแรก 2,440 ตัน โกดังที่ 2 จังหวัดชลบุรี 4,391.1 ตัน และบริษัทที่ 3 จ.สมุทรสาคร อีก 1,034 ตัน รวมที่จับกุมได้หมดทั้งสิ้น 7,865 ตัน ซึ่งจำนวนที่ต้องตามหาเหลืออีกประมาณกว่า 5,000 ตัน โดยเชื่อว่า น่าจะหาได้ว่าที่เหลืออยู่ที่ไหน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากจะต้องทำการขยายผลต่อ

ส่วนของที่กำลังหาอยู่จะออกไปนอกประเทศหรือยังนั้น อธิบดีฯ ระบุว่า ถ้าออกไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คิดว่ายังไม่สามารถออกไปได้ตาม พรบ.วัตถุอันตรายที่จะต้องได้รับความบินยอมจากประเทศปลายทาง และ กากแคดเมียม เป็นวัตถุอันตราย จะต้องมีการขออนุญาตหลายขั้นตอน และจากการตรวจสอบยังไม่มีการขออนุญาตนำออกไปยังต่างประเทศ

ส่วนปลายทางที่ จ.ตาก ได้มีการไปตรวจสอบหลุมฝังกลบ จากการตรวจสอบหลุมเดิมสภาพของหลุมยังมีความมั่นคงจึงมีความพร้อมให้นำกลับไปฝัง ส่วนจะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่ก็ต้องรอทางต้นทางประสานมา และหลังจากนี้ จะมีการทยอยตรวจสอบโรงหล่อภายในจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด และจะมีขยายผลตรวจสอบไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออก

สรุปผลตรวจ \"กากแคดเมียม\" ที่สมุทรสาคร-ชลบุรี พบ 3 บริษัทเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มองด้วยว่า การที่มีคนที่ทำผิดกฎหมายเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นว่าไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ และในระบบเอง มีการขอปรับแก้บทลงโทษ โดยเฉพาะ พรบ.โรงงาน ให้มีการบทลงโทษที่หนักขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ที่กระทำความผิด เพราะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แต่สำหรับผู้ที่ทำถูกกฎหมายก็จะมีการอำนวย ความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ 
  

ด้านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกด้วยว่า ภาพรวมของการดำเนินการเรื่องนี่ สิ่งแรกคือจะต้องตามกากอุตสาหกรรม ทั้งแคดเมียม ทองแดง สังกะสี กลับไปไว้ต้นทางที่เดิม และจะต้องตามหาของหาย เพราะเมื่อรับมาที่ปลายทางแล้วก็จำหน่ายออกไป มีทั้งส่งตรงและมาฝากไว้ที่นี่ ซึ่งตามมาได้ เกือบๆหมื่นแล้ว จาก 13,000บาท จากนั้นก็อายัด และแจ้งความดำเนินคดี  ซึ่งผู้ประกอบการรายนี้เขาเข้ามาแจ้งเอง

ส่วนนโยบายที่จะให้ขนกลับไปให้เร็วที่สุดใน 3 ที่นั้น ก็จะต้องมีระบบค่อนข้างปิด อยู่ในถึงบิ๊กแบ็กเดิม ปิดซีลมีผ้าคลุมและมีจีพีเอสติดรถ โดยจะต้องตามการขนย้ายกลับไปตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งจะต้องนำออกให้ได้ภายใน7วัน ทั้งนี้ของมีจำนวนมาก ก็จะต้องเราทยอยนำออกไปให้เร็วที่สุด

ส่วนต่อไปในอนาคตจะต้องป้องกัน คือเรื่องการออกใบอนุญาตว่า มีช่องโหว่อย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหา โดยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบและแนวทางป้องกันในอนาคต ซึ่งจะดูทั้งระบุ

โดยหลังจากเข้าตรวจค้นเสร็จสิ้นมเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบปากคำ นายจางเจ้าของบริษัท และทุกคนที่เกี่ยวข้องในบริษัท และได้ให้คนงาน ทำการเคลื่อนย้ายถึงบิ๊กแบ็ก ที่ตั้งอยู่นอกตัวอาคาร กลับเข้ามาไว้ในตัวอาคาร แล้วนำเบสไลน์มากั้นพร้อมติดประกาศแจ้งห้ามเคลื่อนย้ายทั้งหมด กว่า600ถุง เพราะถูกอายัดไว้