จ่อปิดดีล ปรับแบบ 6.7 พันล้าน สร้าง “มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช”

05 เม.ย. 2567 | 16:02 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 16:11 น.
2.5 k

“ทางหลวง” กางแผนคืบหน้า “มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช” วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท หลังครม.ไฟเขียวเพิ่มงบ 14 ตอน เหตุปรับแบบใหม่ ดันค่าก่อสร้างพุ่ง 6.7 พันล้านบาท เร่งสปีดตอกเสาเข็ม 40 ตอน ภายในปี 68

KEY

POINTS

  • “ทางหลวง” กางแผนคืบหน้า “มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช” วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท
  • ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบ 14 ตอน เหตุปรับแบบใหม่ ดันค่าก่อสร้างพุ่ง 6.7 พันล้านบาท
  • เร่งสปีดตอกเสาเข็ม 40 ตอน ภายในปี 68     

ที่ผ่านมา “กรมทางหลวง” เร่งรัดก่อสร้าง“มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช” แต่ปัจจุบันกลับพบว่าสภาพการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการปรับแบบการก่อสร้าง ส่งผลให้ต้องของบประมาณผุกพันข้ามปีจากครม.ถึง 6,755 ล้านบาท

 

นายสราวุธ  ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินค่าก่อสร้าง  64,410  ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 40 ตอน มีความก้าวหน้างานโยธา แผนงานรวม 94.325%  ผลงานรวม 94.379% เร็ว กว่าแผน 0.054%

 

ขณะที่ความก้าวหน้าการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) มีแผนงานรวม 70.51% ผลงานรวม 32.93% ช้ากว่าแผน  37.58% ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 67 สาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจากมีการรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพหน้างาน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค ซึ่งได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว 

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันโครงการฯได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 31 ตอน ประกอบด้วย ตอน 3 โดยมีบมจ. ช.การช่าง เป็นผู้รับจ้าง , ตอน 6 โดยมีบมจ. ช.การช่าง เป็นผู้รับจ้าง ,ตอน7-9 มีบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 10-12  มีบมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้รับจ้าง,ตอน13 มีบจก. ส.เขมราฐ อินดัสตรี้ เป็นผู้รับจ้าง,ตอน14-15 มีบจก. เอสเทค ซีวิล แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 16 และตอน 31 มีบจก. ซีวิลเอ็นจีเนียริ่ง เป็นผู้รับจ้าง ,ตอน 17 มีบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง
 

ตอน 22 มีบจก. บัญชากิจ เป็นผู้รับจ้าง, ตอน 24 มีหจก. แพร่วิศวกรรม เป็นผู้รับจ้าง ,ตอน25 มีบจก. ธาราวัญ คอนสตรัคชันเป็นผู้รับจ้าง ,ตอน 26-27 มีบจก. วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 28 มีบจก. แสงชัยโชค เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 29-30 มีบจก. บุญชัยพาณิชย์ (1979) เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 32-33 และ ตอน 36 มีบจก. ทิพากร เป็นผู้รับจ้าง ,ตอน 34-35 มีหจก. บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 37 มีหจก. กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง ,ตอน 38 มีหจก. เอส.พี.ที. ซีวิล กรุ๊ป เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 39  มีบจก. ยิ่งเจริญ ก่อสร้าง บุรีรัมย์ เป็นผู้รับจ้าง และตอน 40 มีบจก. ยิ่งเจริญ ก่อสร้าง บุรีรัมย์ เป็นผู้รับจ้าง  

 

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ส่วนสัญญาที่มีการปรับแบบใหม่และอยู่ระหว่างรองบประมาณเพื่อการก่อสร้างเพิ่มเติมในส่วนที่ดำเนินการแล้ว จำนวน 12 ตอน ประกอบด้วย ตอน 1-2 และตอน 18 มีบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง , ตอน 4 และตอน 19-21 มี บจก. กรุงธนเอนยิเนียร์ เป็นผู้รับจ้าง, ตอน 5 มี บจก. บัญชากิจ เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 23 มี หจก. กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง,ตอน 24 มีหจก. แพร่วิศวกรรม เป็นผู้รับจ้าง ,ตอน 34 มีหจก. บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้างและตอน 39  มีบจก. ยิ่งเจริญ ก่อสร้าง บุรีรัมย์ เป็นผู้รับจ้าง 

 

“คาดว่ามอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จครบ 40 ตอน พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2568 โดยสัญญาสุดท้ายที่แล้วเสร็จคือ ตอน 4 สิ้นสุดสัญญา 19 พฤศจิกายน 68 ซึ่งปัจจุบันสถานะโครงการก่อสร้างเร็วกว่าแผน 1.753% ทั้งนี้กรมฯ เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าสัญญาที่ได้รับการขยายไว้” 
 

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 67 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กรมทางหลวง (ทล.) เสนอ เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ตอนที่ 3 ตอนที่ 4 ตอนที่ 5 ตอนที่ 6 ตอนที่ 17 ตอนที่ 18 ตอนที่ 19 ตอนที่ 20 ตอนที่ 21 ตอนที่ 23 ตอนที่ 24 ตอนที่ 32 และตอนที่ 39 วงเงิน 1,740 ล้านบาท ตามปริมาณงานและวงเงินค่างานจริง ซึ่งไม่เกินกรอบวงเงินที่สำนักงบประมาณได้พิจารณาให้ความเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 65 

 

ทั้งนี้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา แบ่งการก่อสร้าง จำนวน 40 ตอน ปัจจุบันมีงานก่อสร้าง 16 ตอนที่พบปัญหาและจำเป็นต้องแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง

 

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านวิศวกรรมเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้างและได้ข้อยุติว่าการปรับรูปแบบของโครงการ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิศวกรรมแล้ว โดยการปรับรูปแบบของโครงการ ส่งผลให้ค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มขึ้นจากค่างานตามสัญญาจากเดิม 59,410 ล้านบาท เป็น 66,165 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 6,755 ล้านบาท

 

นอกจากนี้การเพิ่มค่างานของทั้ง 16 ตอน จะทำให้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้างของทั้งโครงการฯ รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม 59,410 ล้านบาท เป็น 66,121 ล้านบาท แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินค่างานก่อสร้างจำนวน 69,970 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 59