กรมประมง ลุยแก้ปัญหา พลิกฟื้น “ประมงไทย” คัมแบ็คเจ้าสมุทรใน 4 ปี

05 เม.ย. 2567 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 11:14 น.

"บัญชา สุขแก้ว" อธิบดีกรมประมง เปิดไทม์ไลน์ ลุยแก้ปัญหา พลิกฟื้น “ประมงไทย” สนองนโยบายรัฐบาล คัมแบ็คเจ้าสมุทรใน 4 ปี

ภาคการประมง ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งสร้างรายได้สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งเพื่อการบริโภคภายใน และส่งออกไปต่างประเทศ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคการประมงมีมูลค่าสูงถึง 126,240 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกรมประมงให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตรที่ต้องการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกรให้อยู่ดี กินดี เป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ด้วยการขับเคลื่อน 9 นโยบายสำคัญ และ 7 ข้อสั่งการเร่งด่วน “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ถึง นโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนประมงทั้งระบบ

 

กรมประมง ลุยแก้ปัญหา พลิกฟื้น “ประมงไทย”  คัมแบ็คเจ้าสมุทรใน 4 ปี

 

เร่งจัดระเบียบใหม่ไม่ขัด IUU

นายบัญชา กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญมากกับภาคการประมงของไทย โดยตั้งแต่วันรับตำแหน่งได้มอบนโยบายอย่างชัดเจนในการเร่งแก้ปัญหาให้กับชาวประมง เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาติดขัดจากกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายลูกได้แก้ไปแล้ว 19 ฉบับ ส่วนกฎหมายแม่ คือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมงฯ ได้มีการปรับปรุงและได้ให้ความสำคัญโดยไปแถลงในสภาด้วยตนเองที่จะมีการปรับแก้ในเรื่องนี้ ซึ่งในขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบในวาระ 1 แล้ว และอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา 37 คน

ในภาพรวมทุกปัญหาของพี่น้องชาวประมง ในเชิงนโยบายได้ใช้หลักการการมีส่วนร่วม โดยได้เชิญสมาคมประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และประมงนอก น่านนํ้าร่วมหารือ และที่สำคัญได้ไปรับทราบปัญหา และข้อเสนอแนะจากพื้นที่มาเป็นแนวทางแก้ไขในเชิงนโยบายหลายประการ

“มีหลายปัญหาที่ต้องปรับแก้ไข ถ้าเราบริหารจัดการดี และเปิดให้มีส่วนร่วม ก็จะเกิดความยั่งยืนในคนรุ่นถัดไป นโยบายของรัฐบาลชุดนี้มีความชัดเจนที่จะฟื้นฟูให้เรากลับมาเป็นเจ้าสมุทรในระยะเวลา 4 ปี โดยรัฐมนตรีเกษตรฯพูดถึงความก้าวหน้าที่เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนไปแล้ว ส่วนระยะกลางคือ ระยะ 1 ปี เช่นดูแลสภาพคล่องให้กับพี่น้องชาวประมง การดูแลให้เข้าถึงแหล่งทุน การหาแหล่งประมงใหม่ และวางกฎเกณฑ์ในการทำประมงในกฎหมายประมงฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing) เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพประมงโดยสุจริต และให้สอดคล้องกับวิถีประมงพื้นบ้าน และไม่ขัดต่อหลักการ IUU”

 

กรมประมง ลุยแก้ปัญหา พลิกฟื้น “ประมงไทย”  คัมแบ็คเจ้าสมุทรใน 4 ปี

 

แจงเก็บค่าธรรมเนียมสัตว์นํ้า

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการนำเข้าสัตว์นํ้า เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ขัดต่อหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) และไม่ขัดกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) เนื่องจากค่าธรรมเนียมมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ใช้ในการป้องกันโรคจากการนำเข้าสัตว์นํ้ามาใช้บริโภคในประเทศ 2.การบริหารจัดการการนำเข้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้นำเข้าได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันการลักลอบนำเข้า ทั้งนี้เมื่อสามารถทำเต็มได้รูปแบบ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนำเข้าได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการป้องกันโรค ที่ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด และไม่มีพรมแดน

 

 

“เมื่อไม่มีพรมแดนมาตรการต่าง ๆ ที่จะตั้งขึ้น เราต้องมีงบประมาณ มีเงินมาใช้ แต่งบฯที่ได้จากรัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราจึงต้องใช้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ ซึ่งปศุสัตว์ เก็บกิโลกรัมละ 7 บาท แต่ประมงเราเพิ่งเริ่มครั้งแรก ก็ได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างชัดเจน ตั้งแต่เรื่องความเสี่ยง แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ เสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงมาก และเสี่ยงมากที่สุดนำมาเป็นเกณฑ์ บวกปริมาณที่นำเข้าว่าในแต่ละปีนำเข้ามาเท่าไร โดยนำทั้ง 2 ส่วนมาคิดคำนวณควรจะเก็บอัตราที่เท่าไร ล่าสุดอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ และได้ชะลอออกไป 1 เดือน หากได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอออกเป็นกฎกระทรวงในขั้นตอนต่อไป”

ลุ้นรัฐช่วยเน้นบริโภคภายใน

สำหรับในปี 2566 การค้าสินค้าประมงมีแนวโน้มลดลง ทั้งการส่งออก เนื่องจากมีปัญหาเศรษฐกิจภายในของประเทศผู้นำเข้า และการแข่งขันสูงด้านราคาของประเทศผู้ผลิต เงินเฟ้อยังสูง ทำให้อำนาจการซื้อลดลง คนหันมาบริโภคสินค้าประมงที่มีราคาถูก ผู้ส่งออกสินค้าประมงหลักของโลกแข่งกันลดราคา ขณะที่สินค้าประมงของไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้แข่งขันได้ยาก ส่วนการนำเข้าสินค้าประมง จากสินค้าบางชนิดไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ หรือมีการผลิตแต่ไม่เพียงพอ โดยสินค้าประมงนำเข้ามีราคาสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นจากการเกิดสงคราม รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากเกินไปทำให้ราคาสินค้าประมงนำเข้าสูงขึ้น ผู้บริโภคลดการจับจ่าย ลดการบริโภค ซํ้าเติมการส่งออก

 

กรมประมง ลุยแก้ปัญหา พลิกฟื้น “ประมงไทย”  คัมแบ็คเจ้าสมุทรใน 4 ปี

 

สำหรับสินค้าประมงของไทยในปี 2567 การปรับตัวของเกษตรกรและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐจะช่วยให้ธุรกิจด้านประมงสามารถดำเนินการอยู่ได้ การเน้นการบริโภคสินค้าภายในประเทศมีความจำเป็นเนื่องจากประเทศคู่ค้ามีปัญหาเศรษฐกิจภายใน ลดการนำเข้าสินค้าจากไทย ดังนั้นต้องพัฒนาระบบการขนส่งภายในประเทศเพื่อลดต้นทุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,980 วันที่ 4-6 เมษายน พ.ศ. 2567