‘โซนี่ ดีไวซ์’ ทุ่ม 2 พันล้าน ขยายฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูงในไทย

30 มี.ค. 2567 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2567 | 11:51 น.

โซนี่ ดีไวซ์ เดินหน้าขยายลงทุนฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไทย เปิดโรงงานแห่งที่ 4 รับการเติบโตเทคโนโลยีใหม่ ทั้งเซ็นเซอร์รับภาพ ยานยนต์ยุคใหม่, Micro OLED ในอุปกรณ์แสดงผล AR-VR และเลเซอร์ (Laser Diodes) สำหรับฮาร์ดดิสก์ ดาต้าเซ็นเตอร์

KEY

POINTS

  • โซนี่ ดีไวซ์ ทุน 2,380 ล้านบาท เปิดโรงงานประกอบแห่งที่  4 ในไทย เพื่อรองรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูง ที่เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆทุกภาคส่วนไปสู่ดิจิทัล
  • โรงงานแห่งใหม่ เป็นฐานประกอบ เซ็นเซอร์รับภาพ สำหรับยานยนต์ยุคใหม่  Micro OLED สำหรับอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ  อาทิ อุปกรณ์ AR/VR  และอุปกรณ์เลเซอร์ (Laser Diodes) สำหรับอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ และดาต้าเซ็นเตอร์
  • วางแผนเพิ่มอัตราการจ้างงานในท้องถิ่นอีกกว่า 2,000 ตำแหน่ง  และมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทยให้เติบโตขึ้น

 

นายเทรูชิ ชิมิสึ ประธานและประธานกรรมการบริหาร บริษัทโซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ มีการขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านบริษัทโซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด หรือ SDT ที่ทำหน้าที่ฐานผลิตเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจ อิมเมจ และเซ็นซิ่ง โซลูชัน ของโซนี่ โดยโซนี่ถือเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลก

‘โซนี่ ดีไวซ์’ ทุ่ม 2 พันล้าน ขยายฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูงในไทย

ล่าสุดได้เปิดอาคารแห่งใหม่แห่งที่ 4 ซึ่งเป็นโรงงานประกอบ เซ็นเซอร์รับภาพ ( Image Sensor ) สำหรับการใช้งานในยานยนต์ยุคใหม่ ที่กำลังก้าวไปสู่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ  และ Micro OLED สำหรับอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ  ในกลุ่มอุปกรณ์ AR/VR ตลอดจนการผลิตอุปกรณ์เลเซอร์ (Laser Diodes) สำหรับนำไปใช้งานภายในฮาร์ดดิสก์ และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวถือเป็นแผนการขยายธุรกิจทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ ระยะกลางและยาว เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นและการเติบโตของตลาดที่มุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น

‘โซนี่ ดีไวซ์’ ทุ่ม 2 พันล้าน ขยายฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูงในไทย ‘โซนี่ ดีไวซ์’ ทุ่ม 2 พันล้าน ขยายฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูงในไทย

เซมิคอนดักเตอร์เป็นฐานสำคัญสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆทุกภาคส่วนไปสู่ดิจิทัล และเป็นส่วนสำคัญการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เติบโตขึ้น”นายเทรูชิกล่าว

ทั้งนี้โรงงานผลิตแห่งใหม่นี้ใช้เม็ดเงินลงทุน 2,380 ล้านบาท (ประมาณ 63.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สร้างอาคารใหม่ที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหมด 66,370 ตารางเมตร ขณะเดียวกันยังวางแผนที่จะเพิ่มอัตราการจ้างงานในท้องถิ่นอีกกว่า 2,000 ตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

‘โซนี่ ดีไวซ์’ ทุ่ม 2 พันล้าน ขยายฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูงในไทย

นายทาเคชิ มะสึดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ มีการลงทุนในไทย ผ่านโซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี มาเป็นเวลา 30 ปี โดยเป็นฐานประกอบเดียวเทคโนโลยีอิมเมจ และเซ็นซิ่ง โซลูชัน ของโซนี่ นอกประเทศญี่ปุ่น โดยสาเหตุที่เลือกขยายการลงทุนในไทยเพราะมีฐานเดิมอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมารับการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอโอ และรัฐบาล

นอกจากนี้ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่ง ทั้งนิคมอุตสาหกรรม ถนน ท่าเรือ สนามบิน รวมถึงระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ขณะเดียวกันไทยยังมีค่าแรงต้นทุนตํ่ากว่าญี่ปุ่น ทักษะแรงงานฝีมือเทียบเท่าญี่ปุ่น และมีการฝึกฝนให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญไทยยังเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง และเป็นฐานผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ ซึ่งถือเป็นลูกค้าฐานใหญ่สำหรับโซนี่ ดีไวซ์ ฯ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาประกอบหรือผลิตในประเทศไทยเพิ่ม

ด้านนายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI กล่าวว่า ไทยถือเป็นฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโซนี่ นอกประเทศญี่ปุ่น แห่งแรก โซนี่มีการขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ 17 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงานในไทย 8 พันคน

“การขยายโรงงานประกอบเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ของโซนี่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง จะเป็นส่วนสำคัญการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และเสริมสร้างห่วงโซอุปทานให้มีความแข็งแกร่งขึ้น โดยล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โซนี่ กำลังขยายการลงทุน IC มูลค่า 5 พันล้านบาท”

นายวิรัตน์กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ในไทย มูลค่า 8 แสนล้านบาท โดยภายใน 1-2 ปี จะเห็นการการขยายการการลงทุนของเทคโนโลยีชั้นสูง ตลอดทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า เข้ามาในไทย จะเห็นการลงทุนโรงงาน ผลิตแผงวงจร PCB มูลค่าการลงทุนตั้งแต่ 5,000 -30,000 ล้านบาท โดยเชื่อมั่นว่า ไทยมีความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงพลังงาน และนํ้า รวมถึงทักษะแรงงานชั้นสูง