ชง ครม.สัญจร ของบ 100 ล้าน ทำ EIA สนามบินพะเยา

18 มี.ค. 2567 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2567 | 12:44 น.

นายกฯ เผย หนุนก่อสร้างสนามบินพะเยา ตั้งเป้ายกระดับเมืองรองสู่การเป็นเมืองหลัก มอบ "รมว.คมนาคม -เกษตรฯ" ศึกษาโครงการก่อสร้างฯ ด้าน "ธรรมมนัส" เผย เตรียมชง ครม.สัญจร ของบ 100 ล้าน ทำ EIA สนามบินพะเยา 19 มี.ค.นี้

18 มีนาคม 2567 ที่จังหวัดพะเยา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยระหว่างการนำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่เตรียมสร้างสนามบินจังหวัดพะเยา บริเวณตำบลดอนศรีชุม และตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ว่า รัฐบาลจะมีการศึกษาโครงการก่อสร้างสนามบินพะเยาอย่างรอบคอบและจะใช้ภาษีของประชาชนให้คุ้มค่าที่สุดซึ่งการผลักดันสนามบินพะเยานั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะรับไปผลักดันต่อไป

"ขอให้ชาวบ้านจังหวัดพะเยาอดใจรอการสร้างสนามบินพะเยา ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ซึ่งการก่อสร้างสนามบินนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลักได้ซึ่งจากการมาดูในพื้นที่ก็เห็นว่า จังหวัดพะเยามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองหลักได้"

ด้านร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จังหวัดพระเยาวันพรุ่งนี้ (19 มีนาคม 2567) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระเยาจะเสนอการผลักดันการก่อสร้างสนามบินพะเยา มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมครม.สัญจร รับทราบ ซึ่งที่ผ่านมามีผลการศึกษาโครงการแล้ว หากครม.เห็นด้วยจะเสนอขอรับการจัดสรรวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการต่อไป 

ทั้งนี้ ในการผลักดันการพัฒนาสนามบินพะเยาให้สามารถรองรับการเดินทางของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนนั้น ที่ผ่านมายังได้หารือกับทางสายการบินเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเที่ยวบินมายังสนามบินได้ทันทีหลังจากสนามบินก่อสร้างแล้วเสร็จด้วย

ชง ครม.สัญจร ของบ 100 ล้าน ทำ EIA สนามบินพะเยา

สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินจังหวัดพะเยา กรมท่าอากาศยาน มีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา จังหวัดพะเยา เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา ศึกษาปัจจัยด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม ศึกษาและออกแบบเบื้องต้น ศึกษาปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ โดยได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เริ่มต้นศึกษาโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2564 และสิ้นสุดโครงการพฤษภาคม 2565

ทั้งนี้ จากการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม คือ ตำบลดอนศรีชุม และตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา พื้นที่ประมาณ 2,812 ไร่ เป็นพื้นที่ส่วนที่เป็น Airside ประมาณ 1,350 ไร่ พื้นที่ที่เป็น Landside ประมาณ 1,462 ไร่ เนื่องจากตอบสนองประโยชน์การใช้งานได้ดีที่สุดทั้งด้านการบินและเครือข่ายคมนาคมทางบก มีการลงทุนที่ไม่สูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อชุมชนไม่มาก และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อย

สำหรับการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา จังหวัดพะเยา ได้ประมาณราคาเบื้องต้น ณ เดือนเมษายน 2565 มีมูลค่าในการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยาทั้งสิ้น 4,421.84 ล้านบาท โดยประเมินว่า ท่าอากาศพะเยา จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มโอกาสการเดินทาง พัฒนาเศรษฐกิจ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ทำให้การเดินทางมีความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาในการเดินทางและตรงต่อเวลา ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการคึกคักมากยิ่งขึ้น

ชง ครม.สัญจร ของบ 100 ล้าน ทำ EIA สนามบินพะเยา

รวมทั้งเอื้อให้เกิดการพัฒนาของเมือง เกิดแรงจูงใจให้เกิดการค้า การลงทุน และการวางกระจายความเจริญสู่พื้นที่โดยรอบท่าอากาศยาน ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างโอกาส และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น