สรุปผลงานรัฐบาล 6 เดือน ฝันค้างดัน “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท

11 มี.ค. 2567 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2567 | 18:17 น.
26.3 k

สรุปผลงานรัฐบาล 6 เดือน กับนโยบายใหญ่ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท ฐานเศรษฐกิจรวบรวมรายละเอียดตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงความคืบหน้าล่าสุด กับการผลักดันโครงการมูลค่า 5 แสนล้าน

เงินดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท หนึ่งในนโยบายเรือธงรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 กำหนดให้ นโยบายการเติมเงินดิจิทัล ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเด่นเรื่องแรกที่รัฐบาลจะดันออกมาในระยะสั้น เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง 

โดยนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ประกาศชัดเจนว่า นโยบายการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน 

แต่ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่รัฐบาล “เศรษฐา” เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน การผลักดันนโยบายการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กลับไม่สามารถผลักดันออกมาได้ แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดไทม์ไลน์เอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

 

ภาพประกอบข่าว นายกรัฐมนตรี กับนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

จุดเริ่มต้นนโยบาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต

พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นหนึ่งในนโยบายหมัดเด็ด ตั้งแต่ช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง โดยนายเศรษฐา ทวีสิน ประกาศชัดว่า คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจะได้เงินดิจิทัล 10,000 บาทโดยตรงผ่าน "กระเป๋าเงินดิจิทัล" หรือ Digital Wallet สามารถใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร 

ทั้งนี้ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้ภายใน 6 เดือน ด้วยบัตรประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน ไม่สามารถเบิกถอนเป็นเงินสดได้ ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายงวดเดียว โดยมีวงเงินของโครงการกว่า 5.6 แสนล้านบาท คาดว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเริ่มใช้ได้ปลายปี 2566

ต่อมาเมื่อรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” แถลงนโนบายต่อรัฐสภาและ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ เสร็จสิ้นแล้ว นายกฯ ได้ยืนยันอีกรอบเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ว่า จะพยายามทำให้ได้เร็วที่สุด โดยคิดว่าไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2567 หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

เริ่มนับหนึ่งนโยบาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต

จากนโยบาย...สู่การเริ่มต้นนับหนึ่งโครงการ โดยหลังจากรัฐบาลเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน นโยบาย เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก็มีความชัดเจนขึ้นหลังจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นั่งแถลงรายละเอียดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัลฯ ด้วยตัวเองว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดว่าจะเริ่มประชุมในสัปดาห์นี้ และจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดของโครงการได้ภายในเดือนตุลาคม 2566 ส่วนการเริ่มต้นโครงการนั้นยังต้องเป้าหมายไว้ว่าจะเริ่มตั้งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ตามเป้าหมายเดิม

โดยในการนัดหมายประชุมคณะกรรมการฯนัดแรกจะมีการมอบนโยบายจากนายกฯ รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย มีนายจุลพันธ์ เป็นประธาน รวมถึงนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง จะร่วมกันขับเคลื่อนตัวนโยบายต่างๆ โดยมีหน้าที่รวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบรายละเอียดในทุกมิติที่เป็นคำถามของสังคม

 

ภาพประกอบข่าว นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

 

นัดแรกบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต

หลังจากครม.แต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  เรียบร้อย ในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ถัดมาไม่กี่วัน นั่นคือ วันนี้ 5 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการเงินดิจิทัลชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี ก็ได้ฤกษ์นัดประชุมครั้งแรก 

หลังการประชุมเสร็จ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีนายจุลพันธ์  เป็นประธานคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาเห็นชอบ พร้อมหารือเพื่อให้มีการกำหนดกรอบการดำเนินโครงการให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ตามไทม์ไลน์เดิม

โดยในการประชุมบอร์ดนัดแรกนี้ วงในระบุว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีข้อเสนอแนะ และแสดงความกังวลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท

หลังเห็นว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ใช้เงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท อาจเกิดผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุน และอาจมีความเสี่ยงต่อการดำเนินนโยบายด้านการคลังของประเทศได้ในอนาคต

พร้อมนำเสนอทางออกว่า  รัฐบาลควรทบทวนพิจารณาเงื่อนไข และรายละเอียดของโครงการว่า ถ้าปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินครั้งเดียว หรือก้อนเดียว 10,000 บาท เป็นการทยอยจ่ายให้เท่าที่จำเป็น เช่น ครั้งละ 3,000 บาท จะได้หรือไม่ ซึ่งนายกฯ ได้ขอให้ทางคณะอนุกรรมการฯ รับข้อสังเกตไปพิจารณา

 

ภาพประกอบข่าว นายกรัฐมนตรี กับนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

 

ประชุมบอร์ดนัดสองปรับเงื่อนไข-กู้เงิน

ท่ามกลางสารพัดปัญหา และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล ถัดมาอีกเดือนในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายกฯ จึงนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่อีกครั้ง เพื่อสรุปรายละเอียดทั้งหมดของทางคณะอนุกรรมการฯ และข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ ต่อโครงการ และภายหลังการประชุมเสร็จ นายกฯ ได้แถลงรายละเอียดโครงการด้วยตัวเอง 

นายกฯ ระบุว่า ที่ประชุมได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญของโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือให้คนไทย 50 ล้านคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาท หรือมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาทสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยการอัดฉีดครั้งแรกมีระยะเวลา 6 เดือน เริ่ม 1 พฤษภาคม 2567 - 31 ตุลาคม 2567 เพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน และสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษายน 2570 

พร้อมแจ้งเงื่อนไขโครงการประชาชนจะสามารถจะใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค บริโภคได้เท่านั้น และแลกเป็นเงินสดไม่ได้ รวมถึงปรับหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิเป็นประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท คิดเป็นจำนวนประชากรผู้ได้รับจำนวน 50,000,000 คน ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย และสศช.

ส่วนแหล่งเงิน รัฐบาลเลือกออก พรบ.วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งมั่นใจว่า จะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

 

สรุปผลงานรัฐบาล 6 เดือน ฝันค้างดัน “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท

 

ปัญหาข้อกฎหมาย-ตีความกู้เงิน

หนึ่งเรื่องสำคัญหลังจากรัฐบาลประกาศชัดว่าจะเลือกเดินเส้นทางการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการโดยตรงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามข้อกฎหมาย

โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการบอร์ดนโยบายชุดใหญ่ และประธานคณะอนุกรรมฯ ได้ทำหนังสือของกระทรวงการคลังถึงกฤษฎีกา เพื่อปรึกษาและขอให้ตีความเกี่ยวกับข้อกฎหมายการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และยังยืนยันว่า จะสามารถเริ่มใช้จ่ายได้ในเดือนพฤษภาคม 2567 ตามกำหนดการเดิม 

จนในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ได้ตอบกลับกระทรวงการคลังถึงกรณีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ว่า "ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด” 

นั่นคือ ออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก. ซึ่งกฤษฎีกาตอบกลับไปว่า “ได้” แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เช่น ต้องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แก้ไขวิกฤตของประเทศ หรือต้องเป็นไปตาม มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินนัยการเงินการคลังฯ หากสามารถตอบเงื่อนทั้งหมดได้ก็สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้

บอร์ดเงินดิจิทัลนัดที่สาม ยื้อเวลา

ทิ้งเวลาข้ามปี จากปี 2566-2567 การผลักดันโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ก่อนจะมีการนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากมีการเลื่อนประชุมหนึ่งครั้งในวันที่ 16 มกราคม 2567 เพื่อรอการพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราปรามการทุตจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) เพิ่มเติมเข้ามา 

ถัดมาอีกวัน คือวันที่ 17 มกราคม 2567 หลังจากเลื่อนประชุมบอร์ดชุดใหญ่ นายจุลพันธ์ ได้แถลงรายละเอียดว่า ไทมไลน์เดิมของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ในเดือนพฤษภาคม 2567 ไม่ทัน แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ และยืนยันว่าไม่ลดวงเงิน ไม่ลดจำนวนคน ก่อนที่จะนัดวันประชุมบอร์ดชุดใหญ่อีกครั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

ภายหลังการประชุม นายกฯ แถลงมติด้วยตัวเองว่า ที่ประชุมรับทราบถึงหนังสือข้อหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อเสนแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 

พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด ให้ทางฝ่ายเลขานุการที่ประชุมรวบรวมข้อเท็จจริงตามข้อสังเกตต่าง ๆ ภายใน 30 วัน และเมื่อได้ข้อสรุปจะนัดประชุมคณะกรรมการอีกครั้ง เพื่อนำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เข้ามาอย่างเป็นทางการ จากนั้นจึงพิจารณาเดินหน้าโครงการ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมครม. ต่อไป

ส่วนของไทม์ไลน์โครงการ และการเปลี่ยนแปลงการแหล่งกู้เงินมาเป็นการใช้งบประมาณประจำปี 2568 แทนหรือไม่นั้น นายกฯเห็นว่า ตอนนี้ขอรอข้อสรุปของคณะทำงานและคณะอนุกรรมการฯ สรุปรายละเอียดออกมาก่อน

 

ภาพประกอบข่าว นโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

 

เป็นอันว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ณ ปัจจุบันนี้ ยังคงต้องรอข้อสรุปจากคณะตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2567 นี้ จากนั้นคงต้องมาติดตามกันต่อว่า คนไทยจะได้เห็นนโยบายเงินดิจิทัลกับตาตัวเองได้หรือไม่ หรือสุดท้ายอาจเป็นแค่นโยบายขายฝันทางการเมืองเท่านั้น ต้องจับตากันในช็อตต่อไป