เปิดความคืบหน้า FTA 6 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างเจรจา

11 มี.ค. 2567 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2567 | 10:08 น.
591

เปิดความคืบหน้าผลการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA 6 ฉบับ เพื่อขยายการค้า การลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญเป้าหมายใหม่ในหลาย ๆ ภูมิภาค

"FTA" หรือ การเปิดเขตการค้าเสรี เป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดให้กับผู้ส่งออก และสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีการเสียภาษีนำเข้า 0% 

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  ระบุว่าปัจจุบันไทยได้เจรจาจัดทำ FTA สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยทั้งสิ้น 15 ฉบับกับคู่ค้า 18 ประเทศ/ดินแดน ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี ฮ่องกงศรีลังกา และประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ

ภาพประกอบข่าวความคืบหน้า FTA

ขณะที่ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจามีจำนวน 11 ฉบับ โดยจะเป็นการยกระดับ FTA ที่มีอยู่แล้ว 5 ฉบับ เพื่อปรับปรุงความตกลงกับประเทศคู่ค้าเดิม และเป็นการพัฒนา FTA ใหม่ทั้งสิ้น 6 ฉบับ เพื่อขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญเป้าหมายใหม่ในหลาย ๆ ภูมิภาค

ความคืบหน้า FTA 6 ฉบับที่อยู่ระหว่างการเจรจา

1. FTA ไทย-ปากีสถาน ข้อมูลล่าสุดมีการรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ไทยและปากีสถานจัดการประชุมฯ รอบพิเศษผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าและกำหนดแผนการ เจรจาฯ ของคณะทำงาน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดแผนการเจรจาฯ (Work Plan) ของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเร่งเจรจาประเด็นคงค้างต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเปิดตลาดกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และพิธีการศุลกากรและ อีกทั้ง ปากีสถานอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอกำหนดการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยต่าง ๆ และให้ไทยพิจารณา เพื่อเร่งเจรจาประเด็นคงค้างต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าและหาข้อสรุปได้โดยเร็วที่สุด

สำหรับประเด็นที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา คือ ประเด็นการเปิดตลาดสินค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดแบบเฉพาะรายการสินค้าสำคัญ 200 รายการ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

2. FTA ไทย-ตุรกี ประเทศตุรกีได้ขอชะลอการเจรจา FTA กับไทยจนกว่าการเจรจา FTA ไทย – EU จะแล้วเสร็จ โดยตุรกีแจ้งว่า ตุรกีเป็นสหภาพศุลกากร กับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งกำหนดให้ตุรกีสรุปผลการเจรจา FTA กับประเทศคู่เจรจาของ EU ภายหลังที่การเจรจา FTA ของ EU แล้วเสร็จ

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบการเจรจา เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2558 เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ไทยในการขยายการค้า และการลงทุนไปยังตลาดใหม่ในตะวันออกกลาง และได้เริ่มเจรจาครั้งที่ 1 ในทันที เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 โดยเห็นพ้องที่จะเจรจาด้านการค้าสินค้าก่อน และจะเจรจาการค้าบริการและการลงทุนในภายหลังต่อไป 

โดยมีการจัดการประชุมแล้ว 7 รอบ โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจาการเปิดตลาดการค้าสินค้า (Market Access) พร้อมทั้งหารือประเด็น อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัยและ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และประเด็นด้านกฎหมาย

ภาพประกอบข่าวความคืบหน้า FTA

3. FTA อาเซียน-แคนาดา ข้อมูลล่าสุด FTA อาเซียน-แคนาดาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี เพื่อดูแลภาพรวมการเจรจาและจัดตั้งคณะทำงานเจรจาจำนวน 19 กลุ่ม เพื่อเป็นผู้เจรจาข้อตกลงในรายละเอียดซึ่ง FTA ฉบับนี้ได้เริ่มเจรจารอบแรก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568  

4. FTA ไทย-EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วย ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์) ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาฯ รอบแรก โดยแบ่งเป็นการเจรจาเป็น 2 ระดับ คือ การหารือระดับหัวหน้าคณะเจรจา และ การเจรจากลุ่มย่อย ซึ่งมีทั้งหมด 15 กลุ่ม

เมื่อวันที่ 1-4 พ.ย. 2565 ฝ่าย EFTA เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจารอบที่ 2 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยการประชุมรอบถัดไปจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2567 โดยมีเป้าหมายให้สรุปผลการเจรจาภายในปี 2567

5. FTA ไทย-EU การประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-22 ก.ย. 66 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในภาพรวม การเจรจาเป็นไปด้วยดี ทั้งสองฝ่ายได้หารือ แลกเปลี่ยนข้อเสนอร่างความตกลง และทำความเข้าใจข้อเสนอนโยบายและกฎระเบียบที่ เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย

พร้อมวางแผนการทำงานในรอบต่อไป การประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ณ กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงรายละเอียดของแต่ละประเด็น และแลกเปลี่ยนข้อเสนอเพิ่มเติมและสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น

ทั้งนี้ทุกกลุ่มได้กำหนดการทำงานในขั้นต่อไป อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นต่อร่างบทเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดประชุมหารือ ระหว่างรอบ เพื่อเป็นการเตรียมการให้การประชุมเจรจารอบที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลส์ มีความคืบหน้ามากที่สุด การประชุมเจรจาทั้งสองฝ่ายย้ำเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาให้เสร็จภายใน 18 เดือน (ปี 2568) และกําหนดแผนงานที่จะจัดประชุม เจรจาฯ กันต่อไป 

โดยการเจรจารอบที่ 3 สหภาพยุโรปจะเป็นเจ้าภาพช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ และรอบที่ 4  ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ

ภาพประกอบข่าวความคืบหน้า FTA

6. FTA ไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าของไทยสู่ตลาดตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น ล่าสุดมีการประชุมเจรจาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยการหารือทั้งสองฝ่ายได้ขอเลื่อนการเปิดเสรีการค้าออกไปก่อน

เนื่องจากยังมีประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งทาง UEA มีต้นทุนด้านปิโตรเลียมที่ค่อนข้างต่ำ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต โดยฝ่ายไทยได้ขอให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เลื่อนการเปิดเสรีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกไปก่อน ซึ่งต้องติดตามดูว่าทาง UAE จะมีข้อเสนออย่างไร