ส่องโรดแมพ "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เร่งลดดอกเบี้ย 4.75% ต่อปี

08 มี.ค. 2567 | 12:33 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2567 | 10:14 น.

"กรมส่งเสริมสหกรณ์" เร่งให้ความช่วยเหลือสหกรณ์ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือ 4.75% ต่อปี ตามนโยบายของรัฐบาล ชี้ 2 เดือนเศษ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ทำได้แล้ว 130 แห่ง ที่เหลือติดปัญหาแหล่งเงิน

KEY

POINTS

  • สหกรณ์ออมทรัพย์ 130 แห่งประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 4.75% แล้ว มีสหกรณ์อีกเกือบ 600 แห่ง ที่แสดงความประสงค์ที่จะจะมาเข้าร่วมตามมาตรการลดอัตราดอกเบี้ย
  • กรมส่งเสริมสหกรณ์ แนะสหกรณ์แก้ปัญหาหนี้ให้สมาชิกกลุ่มที่หลังจากหักหนี้แล้วมีเงินคงเหลือต่อเดือนต่ำกว่า 30% ก่อน ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ นำมาเข้าโครงการต่าง ๆ
  • กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง เข้าร่วมส่งข้อมูลกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ป้องกันปัญหาการก่อหนี้ซ้ำซ้อน

หลังจากที่ประชุม ครม. มีมติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งให้ความช่วยเหลือสหกรณ์เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิก ซึ่ง กรมฯ​ ได้ออกจดหมายขอความร่วมมือ ให้สหกรณ์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงให้ต่ำกว่า 4.75% ต่อปี เพื่อให้สมาชิกมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวกับ 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่า หากนับตั้งแต่เริ่มขอความร่วมมือในช่วงเดือน ธ.ค. 66 จนถึงปัจจุบัน เกือบจะ 3 เดือนแล้ว พบว่า มีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่สามารถดำเนินการได้ทันที 130 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ

จำนวนสหกรณ์ในไทย

  • ที่ดำเนินการอยู่ 6,225 แห่ง 
  • รอการชำระบัญชีราว 1,200 แห่ง
  • สหกรณ์การเกษตร 3,400 แห่ง (มากที่สุด)
  • สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,300 แห่ง (ทุนดำเนินการมากสุด 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของสหกรณ์ทั้งหมด)

ในส่วนของสหกรณ์อื่น ๆ นอกเหนือจาก 130 แห่งแรกแล้ว มีสหกรณ์อีกเกือบ 600 แห่ง ที่แสดงความประสงค์ที่จะจะมาเข้าร่วมตามมาตรการลดอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องทยอยดำเนินการ เพราะบางแห่งดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 6.5% ต่อปี ไม่สามารถลดลงได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เพราะจะส่งผลต่องบประมาณในภาพรวม

แหล่งเงินทุนที่สหกรณ์นำมาปล่อยกู้

  1. ทุนเรือนหุ้น เป็นเงินทุนที่ได้จากการที่สมาชิกถือหุ้นรายเดือนตามข้อบังคับ ส่วนมากจะ 5% จากเงินเดือนที่ได้อยู่ ซึ่งในส่วนนี้ ถ้าสหกรณ์มีกำไร ก็จะมีการจ่ายเงินปันผล โดยหลักทั่วไปเงินปันผลให้คิดในอัตราใกล้เคียงกับเงินฝากประจำกับสถาบันการเงินเฉลี่ย 1.75-2% ส่วนสหกรณ์ที่มีผลกำไรค่อนข้างดี ก็จะอยู่ที่ราว 5%
  2. เงินรับฝากจากสมาชิกและสหกรณ์อื่น ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ , เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และ เงินฝากประจำ โดยเพดานดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด ไม่เกิน 3.75% ต่อปี อ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. โดยผู้ที่จะฝากเงินต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น 
  3. เงินกู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งบางแห่งอัตราดอกเบี้ยสูง แต่จากการวิเคราะห์ เงินส่วนมากที่มาปล่อยกู้ มาจากทุนเรือนหุ้น และเงินรับฝาก ส่วนแหล่งเงินที่มาจากการกู้สถาบันการเงินนั้น มีสัดส่วนเพียง 2 แสนล้านบาทจากทั้งหมด 2.2 ล้านล้านบาท แต่ก็มีสหกรณ์บางแห่งยังลดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ได้ในทันที เพราะต้องเปลี่ยนแหล่งเงินทุนก่อน

“สหกรณ์ที่ยังลดดอกเบี้ยไม่ได้ มีไม่กี่สาเหตุ หลัก ๆ ก็คือปัญหาต้นทุนการเงิน และความคาดหวังจากสมาชิกที่มีสูง เรียกง่าย ๆ ว่า บางแห่งเงินขาด บางแห่งเงินเกิน แต่เท่าที่พูดคุย ทุกแห่งมีความพยายามที่จะทำให้ได้ สหกรณ์ใดที่มีปัญหาเรื่องแหล่งเงิน ได้แนะนำไปกู้เงินจากแบงก์รัฐแล้ว เพราะดอกเบี้ยถูก”

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้มี ข้อเสนอแนะต่อสหกรณ์ ให้คัดสมาชิกกลุ่มที่หลังจากหักหนี้แล้วมีเงินคงเหลือต่อเดือนต่ำกว่า 30% มาทำการแก้ปัญหาเป็นกลุ่มแรก ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ นำมาเข้าโครงการต่าง ๆ เช่น ขยายระยะเวลาชำระหนี้จนถึงอายุ 75 ปี เพื่อให้ค่างวดต่อเดือนถูกลง ไปจนถึงการชำระหนี้เฉพาะในส่วนที่เกินหุ้นี่ถือครอง

ปลดล็อกการทำธุรกิจของสหกรณ์

สำหรับประเด็นการทำธุรกิจของสหกรณ์ที่กำหนดให้สามารถดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์แต่ละประเภทเท่านั้น โดยปัจจุบันมีสหกรณ์หลาย 7 ประเภท ได้แก่

  • สหกรณ์การเกษตร
  • สหกรณ์ประมง
  • สหกรณ์นิคม
  • สหกรณ์ร้านค้า
  • สหกรณ์บริการ
  • สหกรณ์ออมทรัพย์
  • สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

ซึ่งแต่ละประเภท มีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน หากจะทำธุรกิจนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของสหกรณ์เดิม ก็ไม่ยาก สามารถจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ ภายใต้สหกรณ์เดิม แต่เป็นสหกรณ์ที่ดำเนินการในคนละวัตถุประสงค์ เป็นอีกสาขาย่อยในการให้บริการ โดยสมาชิกสหกรณ์ที่จัดตั้งใหม่นี้ ก็คือสมาชิกจากสหกรณ์หลักนั่นเอง

นอกจากนี้ สหกรณ์แต่ละประเภทยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปฝากขายกับสหกรณ์อื่น ๆ ได้ หรือ หากต้องการลงทุนเงินฝาก ก็สามารถนำเงินไปฝากกับสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วยกันเองได้ รวมถึงสามารถลงทุนอื่น ๆ เพิ่มเติมได้

อ้างอิงตามประกาศของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) เรื่องข้อกำหนดการฝากและลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ โดยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ และหุ้นของบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่มี Credit rating A- ลบขึ้นไป จากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบ จาก ก.ล.ต. ซึ่งมีสหกรณ์นำเงินไปลงทุนรวมกว่า 6 แสนล้านบาท 

ขอความร่วมมือเข้าร่วมเครดิตบูโร

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง ให้เข้าร่วมส่งข้อมูลกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพื่อป้องกันความเสี่ยงของสหกรณ์ เพราะจะทำให้ทั้งสถาบันการเงินและสหกรณ์ทราบข้อมูลหนี้ของลูกค้า และนำมาใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ป้องกันปัญหาการก่อหนี้ซ้ำซ้อน 

ปัจจุบัน เกือบทุกสหกรณ์ใช้โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปอยู่แล้ว เพียงแค่ทำการเชื่อมข้อมูลกับเครดิตบูโร ก็จะเห็นข้อมูลทั้งหมด ทั้งกลุ่ม SML , NPL และ TDR แม้ปัจจุบันสหกรณ์จะมีหนี้เสียน้อยเพียงแค่ 1% จากสินเชื่อรวม เพราะเป็นการหัก ณ ที่จ่ายกับบัญชีเงินเดือน แต่ปัญหาคือ ตัวสมาชิกยังสามารถไปกู้เงินจากธนาคารได้ ทำให้ไม่มีเงินเหลือพอสำหรับการดำรงชีพ ก็ต้องไปหาแหล่งอื่น ๆ อีก เช่น กดเงินสดจากบัตรเครดิต ไปจนถึงหนี้นอกระบบ