หมูเถื่อนทำขาดทุนสะสม "ผู้เลี้ยงหมู" ร้องรัฐขอขายหมูตามโครงสร้างต้นทุน 

28 ก.พ. 2567 | 17:25 น.

"ผู้เลี้ยงหมู" ร้องรัฐบาลพิจารณานำกลไกตลาด-โครงสร้างต้นทุนมาใช้เพื่อยกระดับราคาหมูในประเทศ ชี้ แบกต้นทุนการผลิตสูง ซ้ำร้ายโดนราคาประกาศของราชการปรับลดราคาต่อเนื่อง

29 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เกษตกรผู้เลี้ยงหมูคาดหวังว่าราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจะปรับขึ้นสู่ระดับ 80 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงก่อนตรุษจีนที่ผ่านมาแต่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้เนื่องจากผลผลิตจากการฟื้นฟูฟาร์มหลังโรคระบาด ASF ออกสู่ตลาดมากขึ้น

ประกอบกับหมูเถื่อนยังถูกลักลอบระบายออกจากห้องเย็นมาสมทบกับผลผลิตหมูไทย ทำให้หมูล้นตลาดและกดราคาในประเทศจนต่ำกว่าต้นทุน เกษตรกรจึงต้องอยู่ในสภาพขาดทุนต่อเนื่อง ที่สำคัญหมูเถื่อนซึ่งมีผลต่อราคาตกต่ำในขณะนี้ ยังไม่สามารถปราบปรามให้หมดได้

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในประกาศลดราคาแนะนำหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มต่อเนื่องรวม 4 บาทต่อกิโลกรัมโดยราคาปัจจุบันอยู่ที่ 64 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติปรับราคาคละสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้น 2 บาท อยู่ที่ 66 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากจะเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุนของเกษตรกรแล้วยังเป็นราคาที่ทำให้เกษตรกรขาดทุนสะสมเพิ่มมากขึ้นทั้งที่เกษตรกรต้องอดทนแบกขาดทุนสะสมมานานหลายเดือนแล้ว

"ผู้เลี้ยงหมูขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณานำกลไกตลาด มาเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรมด้านราคาให้กับทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ตามโครงสร้างต้นทุน เพราะต้นทุนเฉลี่ยของเกษตรกร 80-82 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับราคาประกาศของภาครัฐยังขาดทุนมาก" นายสุนทราภรณ์ กล่าว

นายสุนทราภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ มีการหารือร่วมกันกับภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางในการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรในประเทศเพื่อสร้างระบบอาหารมั่นคงให้กับคนไทยและสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นใจ

ทั้งเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัย และราคา หากแต่เกษตรกรยังต้องอยู่ในสภาพขาดทุนสะสมต่อเนื่องและราคาถูกกดให้ต่ำตลอดเวลาเช่นนี้ วงการหมูไทยคงไปไม่รอด ต้องมีคนออกจากอาชีพอีกจำนวนมาก

2 ปีที่ผ่านมา วงการหมูไทยประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลกระทบมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

1.โรคระบาด ASF ทำให้ผลผลิตหายไป 50%

2.หมูเถื่อนระบาดทั่วประเทศ เข้าแทรกแซงกลไกตลาด กดราคาหมูไทย

3. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้นมากกว่า 30% แม้จะปรับลงบ้างก็ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้เกษตรกรยังมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงฟาร์มเพื่อป้องกันโรคเพิ่มขึ้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาและอุปสรรคของคนเลี้ยงอย่างเป็นระบบและใช้กลไกตลาดในการปรับราคาให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกร และเร่งปราบปรามหมูเถื่อนให้หมดไป ซึ่งจะเป็นนโยบายที่สนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว