“กางเกงลายลิง”ปังมาก! ขายดีจนขาดตลาด YEC จ่อต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ลพบุรี

28 ก.พ. 2567 | 10:32 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 11:01 น.

แฟชั่น“กางเกงลายลิง”เมืองละโว้”สุดปัง!! ขายดีจนขาดตลาด ต้องรอการผลิตล็อตใหม่ ขณะพาณิชย์จังหวัดพร้อมหนุนผู้ประกอบการทุกราย ด้าน “YEC”รับลูกทันควันหวังต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์สินค้าของฝากลพบุรี

ภายหลังจากการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567  ที่ จังหวัดลพบุรี เสร็จสิ้นไป   สินค้าที่ขึ้นแท่นเป็นของฝากประจำจังหวัดนอกจากไข่เค็มดินสอพอง  ปลาส้มฟัก  ผ้ามัดหมี่ ผ้าทอมือโคกเจริญแล้ว  คงไม่พ้น "กางเกงลายลิง" ที่นักท่องเที่ยวต่างซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก หรือแม้กระทั่งคนลพบุรีเองนำไปใส่ ด้วยเอกลักษณ์โดดเด่นผสมผสานความน่ารักของสัตว์ประจำถิ่น จนปัจจุบันสินค้าดังกล่าวขาดตลาด ต้องรอการผลิตอีกระยะหนึ่ง

น.ส.จันทร์จิรา เสริมทรัพย์ เจ้าของสินค้า ผู้ออกแบบ ผลิต จำหน่าย กางเกงลิง เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการเปิดตัวกางเกงลายลิงล็อตแรก ในช่วงเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมมีการประชาสัมพันธ์ในเพจของตนเอง สร้างคอนเทนต์ และขายผ่านออนไลน์  รวมทั้งมีเพื่อนๆและคนที่รู้จักช่วยกันเผยแพร่และช่วยขายหน้าร้านโดยซึ่งมีจุดจำหน่ายอยู่ที่ร้านขายผ้านวรัตน์ ถนนราชดำเนิน ในตัวเมืองลพบุรี ร้านแคร์แบร์ ชั้น1ห้างบิ๊กซีลพบุรี  และโรงแรมนารายณ์ไอยรา พาเลซ ลพบุรี 

ตลอดจนขายออนไลน์ที่ "เพจกางเกงลิง" จังหวัดลพบุรี มีการตอบรับดีมาก  จนมีการสั่งผลิตต่อ เพื่อให้ทันกับช่วงงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประกอบกับมีร้านค้าเสื้อผ้าในตัวเมืองก็ทำกางเกงลายลิงมาจำหน่ายเหมือนกัน แต่รูปลักษณ์คนละแบบ และมีการออกสื่อทีวี จึงทำให้สินค้าของตนเองได้รับผลพลอยได้ไปด้วย จนขณะนี้สินค้าหมดต้องการการผลิตไปอีกระยะหนึ่ง ท่ามกลางความต้องการของลูกค้า ที่มีการสั่งจองไว้จำนวนมาก   

สำหรับจุดเด่น "กางเกงลายลิง"ของตนเองนั้นมาจากการออกแบบที่นำเอาลายผ้ามัดหมี่ มาผสมกับรูปการ์ตูนตัวลิง สัญลักษณ์สัตว์คู่เมืองลพบุรี พร้อมประกอบลายเส้นดอกทานตะวัน บนพื้นขาวดำ ที่ทำให้ผู้ใส่รู้สึกว่าสามารถสวมใส่ร่วมกับเสื้อผ้าที่หลากสี  รวมทั้งใส่สบายเพราะเป็นผ้าที่เรียกว่าผ้าไหมอิตาลี ราคาไม่แพง ทำให้สินค้าของเราเข้าถึงง่าย     

“กางเกงลายลิง”ปังมาก! ขายดีจนขาดตลาด  YEC จ่อต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ลพบุรี

ทั้งนี้จากการเริ่มต้นความคิดของการทำ"กางเกงลายลิง"มาจากที่ตนเองทำงานประจำ ที่ศูนย์การค้าแปซิฟิค พาร์ค อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องกลับมาดูแลแม่ที่อายุมาก หลังจากกลับมา ได้นำผ้าทอมัดหมี่ของป้าจากอำเภอบ้านหมี่มาขายออนไลน์ ขณะถ่ายแบบลายผ้าเพื่อจะโพสต์ขาย  เห็นลวดลายของผ้าที่สวยงาม จึงเกิดไอเดีย ที่อยากจะนำเอาลายดังกล่าวมาทำเป็นกางเกง  ผนวกกับเห็นกางเกงช้าง กางเกงแมวของจังหวัดอื่น ซึ่งลพบุรียังไม่มี 

น.ส.จันทร์จิรา กล่าวอีกว่า "กางเกงลายลิง" ซึ่งเป็นสินค้าของตนเอง อาจจะแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นที่ทำกางเกงแนวนี้เหมือนกันและมีชื่อเสียงกว่า เพียงแต่เฉดสีและภาพลวดลายบนกางเกงของตนเองเน้นสีขาวดำ ขณะที่รายอื่นทำหลากสี ซึ่งขณะนี้แม้กระแสเรื่องกางเกงประจำจังหวัดเริ่มมีมากขึ้น โดยในอนาคตตนเองจะคิดทำกางเกงลายลิงเด็ก จะได้ใส่กันเป็นครอบครัว ซึ่งมีคนแนะนำว่าเราควรไปจดลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันผู้ลอกเลียนแบบ โดยหลังจากนี้ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้ถูกต้องต่อไป 

ด้าน น.ส.กษมา สุทธวิชัย  พาณิชย์จังหวัดลพบุรี เผยถึงกระแส"กางเกงลายลิง"ซึ่งเป็นสินค้าสัญลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี ว่าเนื่องจากสินค้าที่เป็นกางเกงลายลิง คิดและผลิตโดยผู้ประกอบการรายใหม่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลพบุรี พร้อมที่จะให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการทุกรายทั้งในการให้ความรู้ การส่งเสริมการขายและการจดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์แก่เจ้าของและผู้ผลิต  ถือว่าเป็นไอเดียและความคิดของแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ของผู้ประกอบการและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของจังหวัด

แฟชั่น“กางเกงลายลิง”ปังมาก! ขายดีจนขาดตลาด

อย่างไรก็ตาม สินค้าต้องไม่มีลวดลายที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เชิงลบ   ขณะนี้เท่าที่ทราบมีผู้ประกอบการ"กางเกงลายลิง"เข้ามาติดต่อและต้องการจดทะเบียนการค้า ตลอดจนจดลิขสิทธิ์ จำนวน 4 ราย ซึ่งบางรายอาจมีภาพโบราณสถานมาเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ท้วงติง ซึ่งทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดก็ได้แนะนำให้แก้ไข ส่วนจะดำเนินการอย่างไรคงเป็นเรื่องของผู้ประกอบการเองเพราะอาจส่งผลกระทบภายหลัง          

ขณะที่นายชานิน  ศิริพานิชกร ประธานกลุ่ม YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce)  หอการค้าจังหวัดลพบุรี เผยว่า กระแสกางเกงของจังหวัดที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดี ลพบุรีมีกางเกงลายลิง ที่คนเริ่มรู้จักและมีผู้ประกอบการหลายราย ตนเองมองว่าควรมีการประกวดงานลวดลายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานโบราณวัตถุ แหล่งท่องเที่ยวคนรู้จัก โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี เป็นเจ้าภาพในการประกวด เพื่อให้เป็นไกด์บุ๊กของจังหวัดในการให้ถูกนำไปใช้งาน

"กลุ่ม YEC ยินดีที่จะเข้าไปสนับสนุนในการประกวด ในอนาคตมองว่าลพบุรีมี 11 อำเภอ อาจมีสัญลักษณ์ครบทุกอำเภอ ทั้งนี้เราสามารถพัฒนาการต่อยอดในสินค้าต่างๆได้ ไม่เพียงเฉพาะลวดลายที่อยู่บนกางเกง แต่ไปอยู่สินค้าของฝากอื่นเช่นไข่เค็ม  เครื่องประดับก็ได้" ประธานกลุ่ม YEC  กล่าว