"พิมพ์ภัทรา"สั่งคุมเข้มมาตรการตัดอ้อยสด ลดการเผากัน PM 2.5

23 ก.พ. 2567 | 17:33 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2567 | 17:33 น.

"พิมพ์ภัทรา"สั่งคุมเข้มมาตรการตัดอ้อยสด ลดการเผากัน PM 2.5 เดินหน้าควบคู่การหามาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสดเข้าหีบมากยิ่งขึ้น ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ดูแลมาตรการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อยให้เข้มขึ้นยิ่งขึ้น

จากที่ผ่านมารัฐบาลเข้มข้นอยู่แล้ว แต่ยังมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในปริมาณที่สูงอยู่ จึงต้องหามาตรการให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล 

ทั้งนี้ เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งหามาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสดเข้าหีบมากยิ่งขึ้น เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
 

การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การจัดหารถตัดอ้อย ต่อไปหากออกมาตรการเพิ่มเติมปัญหาเผาอ้อยยังไม่ลดอีก ทางสอน.จะใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุด  

ชาวไร่อ้อย   

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการ สอน. กล่าวว่า สอน.ได้รับนโยบายจากรมว.อุตสาหกรรม ใช้มาตรการส่งเสริมตัดอ้อยสด ลดอ้อยถูกลักลอบเผา ลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้เข้มขึ้นยิ่ง 

โดยมาตรการเร่งด่วนเริ่มใช้ทันทีในฤดุหีบอ้อยนี้ ขอให้โรงงานน้ำตาลลดช่องรับอ้อยไฟไหม้ เช่น จากเดิมมีจุดรับอ้อย 4 จุด ให้เหลือแค่ 1 จุด ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน เพื่อบีบให้ชาวไร่ ตัดอ้อยสดมาส่ง รวมทั้งประสานให้ประสานให้คนรับซื้อใบอ้อยสด เพื่อนำไปเป็นวัสดุในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลถึงไร่ เพื่ออำนวยความสะดวก 

ส่วนมาตรการระยะกลางเตรียมพิจารณาหักเงินอ้อยไฟไหม้เพิ่มเติมจากเดิมหักเพียง 30 บาทต่อตัน ต่อไปอาจหักถึง 90-120 บาทต่อตัน เพื่อให้มีส่วนต่างราคามากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้หักเพียง 30 บาทต่อตัน ชาวไร่อ้อยบางราย คิดว่า ส่วนต่างไม่ได้สูงมาก ส่งผลให้ยังมีการเผาอ้อยกันอยู่ ล่าสุดยังอยู่ที่ 19.55 ล้านตัน

ขณะที่อ้อยสดอยู่ที่ 48.86 ล้านตัน ซึ่งประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ซึ่งมีตัวแทนจากชาวไร่อ้อยพิจารณาด้วย ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอกันแล้ว แต่ตัวแทนชาวไร่อ้อยยังเสียงแตกกันอยู่ ครั้งนี้จะนำมาหารือในที่ประชุมต่อไป หากมีการพิจารณาอนุมัติแล้ว จะใช้ในฤดูหีบหน้าฤดูการผลิตปี 67/68 

“ตอนนี้จะหามาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ใช้รถตัดอ้อย ซึ่งมีชาวไร่หลายราย หันมารื้อแปลงปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ ไม่ให้แน่นแบบเดิม ซึ่งใช้รถตัดอ้อยเข้าไปตัดไม่ค่อยสะดวก ปลูกแบบใหม่ให้รถตัดอ้อยเข้าได้ บางรายก็ขอรออีก 3 ปี เพื่อรอให้ใช้ตออ้อยเดิมไปก่อน เพราะเพิ่มลงอ้อยใหม่ไม่นาน”