วันนี้ (23 ก.พ. 67) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยความคืบหน้าแผนการดำเนินงานขับเคลื่อน “ไผ่” เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ จากนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า คณะทำงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานในรายละเอียดของต้นแบบ ที่จะดำเนินการส่งเสริมการปลูกไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิดไม่ใช้งบประมาณรัฐบาล
แต่เป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่าง รัฐบาล เอกชน และประชาชน (PPPP model) โดยรัฐบาลสนับสนุนด้านนโยบายส่งเสริมการปลูกไผ่ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจกลุ่มไม้ยืนต้น ซึ่งภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนกิจการแปรรูปไผ่ ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม bio-refinery ในระดับชุมชน ตอบโจทย์เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร
ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า โครงการระยะเริ่มแรกตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10,000 ไร่ ใน 10 ตำบล โดยจะสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรตำบลละอย่างน้อย 80 ล้านบาท จากนั้น จะขยายผลไปทั่วประเทศ
โดยเชิญชวนภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนให้มีการเตรียมแหล่งเงินทุนผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ Green Investment Trust ที่สำนักงาน ก.ล.ต ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=975 โดยผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail : [email protected] จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2567
“นอกจากผลิตภัณฑ์จากไผ่ในอุตสาหกรรม bio-refinery เรายังได้ carbon credits อีกเป็นจำนวนมหาศาล ที่จะไปช่วยชดเชย carbon footprints ช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย carbon neutral และ net-zero emissions ภายในปี 2050 และ 2065 ตามลำดับ
ส่วนเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่ม จากการใช้เกษตรพันธสัญญา ที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนจะต้องทำสัญญารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ราคาที่เกษตรกรได้กำไรแน่นอน
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีสิทธิถือหุ้นในกิจการแปรรูปกลางน้ำและปลายน้ำ โดยได้ส่วนแบ่งผลกำไรเพิ่มอีกด้วย