เปิดบิ๊กโปรเจ็กต์ กฟผ. 4.9 แสนล้าน ในมือบอร์ดชุดใหม่

20 ก.พ. 2567 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2567 | 15:23 น.
3.6 k

เปิดภารกิจ บอร์ด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชุดใหม่ หลังครม.ไฟเขียวแต่งตั้งเรียบร้อย เตรียมดันเมกกะโปรเจกต์ 18 โครงการ วงเงินรวม 490,730 ล้านบาท

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติอนุมัติ 10 รายชื่อ คณะกรรมการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ บอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ ภายหลังมีการเปิดรับสมัครตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เป็นที่เรียบร้อย โดยตั้งให้นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานบอร์ด กฟผ.

สำหรับอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการ กฟผ. เป็นตัวแทนของรัฐในการบริหารกิจการและกำกับดูแลการดำเนินงานของ กฟผ. ให้เป็นไปตามพันธกิจ วัตถุประสงค์ และนโยบายของภาครัฐ โดยคณะกรรมการ กฟผ. จะมีองค์ประกอบความรู้ความสามารถที่เหมาะสม เข้าใจขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ กฟผ. รวมถึงการกำกับดูแลให้คณะกรรมการชุดย่อยและผู้บริหารดำเนินการให้บรรลุพันธกิจ วัตถุประสงค์ และนโยบายของภาครัฐ

โดยภารกิจสำคัญของคณะกรรมการบริหาร กฟผ. จะมีหน้าที่พิจารณา และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของกฟผ. โดยเฉพาะโครงการลงทุนสำคัญที่เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการใหญ่ ๆ ที่กฟผ.จำเป็นต้องขับเคลื่อนมูลค่านับแสนล้านบาท

 

ข่าว "ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ" ขึ้นแท่น "ประธานบอร์ด กฟผ." ชุดใหม่

จากการตรวจสอบรายละเอียดในเอกสารงบประมาณงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 พบว่าในปีงบประมาณ 2567 กฟผ. ตั้งงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 757,504.45 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 729,438 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 28,066 ล้านบาท 

ขณะที่โครงการลงทุนที่สำคัญทั้งหมด 18 โครงการ วงเงินรวม 490,730 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณรวมของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี: 474,700 ล้านบาท และงบประมาณรวมของโครงการที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี 16,030 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้

โครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

1. โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 วงเงินลงทุน 47,470 ล้านบาท

2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ําร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ําเขื่อนอุบลรัตน์  วงเงินลงทุน 863.4 ล้านบาท

3. โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 9,170 ล้านบาท

4. โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 12,100 ล้านบาท

5. โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 วงเงินลงทุน 60,000 ล้านบาท

6. โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพ ระยะที่ 1

  • ส่วนสถานีไฟฟ้าแรงสูง วงเงินลงทุน 3,815 ล้านบาท
  • ส่วนสายส่งไฟฟ้าแรงสูง วงเงินลงทุน 9,850 ล้านบาท

7. โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพ ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 21,900 ล้านบาท

8. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า วงเงินลงทุน 12,000 ล้านบาท

9. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า 2557 - 2567 วงเงินลงทุน 63,200 ล้านบาท

10. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 94,040 ล้านบาท

11. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคเหนือตอนบน เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า วงเงินลงทุน 12,240 ล้านบาท

12. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่างเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า วงเงินลงทุน 35,400 ล้านบาท

13. โครงการระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) วงเงินลงทุน 7,985 ล้านบาท

14. โครงการระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 7,250 ล้านบาท

15. โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าหลักเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าผู้ผลิตเอกชนรายเล็กระบบ COGENERATION วงเงินลงทุน 10,610 ล้านบาท

16. โครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลไปยังบริเวณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า วงเงินลงทุน 11,230 ล้านบาท

โครงการที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี

1. โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 2,150 ล้านบาท

2. โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 14,880 ล้านบาท

นอกจากนี้จากการตรวจสอบข้อมูลด้านการเงิน ในปีงบประมาณ 2567 ของกฟผ. พบว่า มีกำไร 29,008.2906 ล้านบาท ส่วนปี 2567 คาดว่าจะมีกำไร 39,839.3920 ล้านบาท