หลุมดำการเมืองฉุดการศึกษา “เวียดนาม” แซงไทยสู่แนวหน้าอาเซียน

17 ก.พ. 2567 | 14:43 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2567 | 14:50 น.

ถอดประเด็นการศึกษาไทย “กนก วงษ์ตระหง่าน” ชี้สัญญาณร้าย “เวียดนาม” แซงไทยสู่แนวหน้าอาเซียน หลังไทยหนีไม่พ้นหลุมดำทางการเมือง มุ่งรักษาอำนาจมากกว่าพัฒนาคุณภาพการศึกษา

สถานการณ์ด้านการศึกษาของไทย ยังมีข้อน่ากังวลอย่างต่อเนื่อง หลังจากผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทย PISA 2022 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และการอ่าน 379 คะแนน ลดลงทุกด้านและถือว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี ขณะเดียวกันยังพบความเหลื่อมล้ำสูง และต่อไปอาจเกิดปัญหาด้านขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยนั้น

ล่าสุด ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว กนก วงษ์ตระหง่าน (Kanok Wongtrangan) ระบุข้อมูลที่น่าสนใจด้านการศึกษาว่า เวียดนามแซงหน้าไทยด้วยการศึกษา 

โดยอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจาก Nikkei Asia ตีพิมพ์บทความเมื่อ 16 กพ. 67 พาดหัวว่า “บัณฑิตจากฮาร์วาร์ด อ๊อกฟอร์ด เติมพลังขับเคลื่อน Tech Start Up ของเวียดนาม” โดยจำนวนนักศึกษาเวียดนามในต่างประเทศจำนวนเกือบ 150,000 คนมากกว่าจำนวนนักศึกษาอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยในต่างประเทศรวมกันโดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานักศึกษาเวียดนามเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น ฮาร์วาร์ด อ๊อกฟอร์ด เคมบริดจ์ เป็นต้น 

เมื่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจำนวนนับแสนกลับเวียดนาม พวกเขาคือกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเวียดนามให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในรอบ 10-15 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงเวลาเพียง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามพลิกประเทศจากสงครามมาเป็นประเทศแนวหน้าของอาเซียนได้สำเร็จ

 

ภาพประกอบข่าว ถอดประเด็นการศึกษาไทย “เวียดนาม” แซงไทยสู่แนวหน้าอาเซียน

ตรงกันข้าม 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยติดกับดักความขัดแย้งภายในทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ส่งผลให้ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแข่งขันได้น้อยลง และติดกับดับประเทศรายได้ปานกลาง พร้อมทั้งเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง

ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาไทยที่ทำท่าจะยกระดับได้ด้วยการเปิดโอกาสการศึกษาให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ แต่ระบบบริหารการศึกษากลับติดหล่มอยู่กับวงจรการปกป้องผลประโยชน์ของบุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมุ่งแต่รักษาอำนาจมากกว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนตัวนับครั้งไม่ถ้วน ในช่วงเวลาที่บริหารกระทรวงจึงไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ หลายท่านอาจจะบอกว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นไม่มีใจที่จะบริหารเพื่อคุณภาพการศึกษา จนส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่พรรคการเมืองไม่ค่อยอยากได้

เมื่อการศึกษาสำคัญต่ออนาคตประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ ประกอบกับพรรคการเมืองไม่ค่อยอยากได้กระทรวงศึกษาธิการเท่าไร เพราะสร้างผลงานให้คนเห็นได้ช้า งานยาก ความสลับซับซ้อนภายในยากแก่การจัดการ ประกอบกับนักการศึกษาคุณภาพสูงที่อยู่ในพรรคการเมืองมีน้อย ทำให้เราคาดหวังได้ยากที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาให้แข่งขันกับกลุ่มประเทศอาเซียนจากระบบการเมืองและพรรคการเมืองปัจจุบัน

 

ภาพประกอบข่าว ถอดประเด็นการศึกษาไทย “เวียดนาม” แซงไทยสู่แนวหน้าอาเซียน

ศ.ดร.กนก ยอมรับว่า ถ้าขอคิดนอกกรอบระบบการเมืองปัจจุบัน รัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะร่างหรือแก้ไขกันก็ตาม น่าจะกำหนดไปเลยว่าตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันเลือกบุคคลที่มีคุณภาพและภาวะผู้นำตลอดจนมีประสบการณ์ทางการศึกษาสูง ให้มารับผิดชอบบริหารคุณภาพการศึกษาของประเทศ

ทั้งนี้มั่นใจว่าด้วยคุณภาพและคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเช่นนี้ ประเทศไทยจะกลับมาแซงหน้าเวียดนามอีกครั้งได้แน่นอน