จีนเร่งส่งออกสินค้า ดัมพ์ราคารอบ 16 ปี ‘เงินฝืด-ผลผลิตล้น’

15 ก.พ. 2567 | 13:15 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 13:18 น.

เศรษฐกิจจีนซึ่งกำลังชะลอตัวและเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (deflation) กำลังส่งออกอุปทานส่วนเกินไปยังตลาดต่างประเทศ ด้วยราคาที่ลดลงในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551

นักลงทุนทั่วโลกคาดว่า ราคาสินค้าและบริการที่ลดลงในจีนจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกลดลงในปีนี้ เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินในเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน ส่งผลให้บรรดาผู้ส่งออกแดนมังกรพากันลดราคาสินค้าที่ขายในต่างประเทศลงมาด้วย

สื่อต่างประเทศอย่างไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ราคาสินค้าส่งออกของจีนลดลงในอัตรารวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551 ซึ่งบ่งชี้ว่า จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกเริ่มส่งภาวะเงินฝืดออกไปยังประเทศต่างๆ ที่กำลังต่อสู้อยู่กับอัตราเงินเฟ้อที่สูง

ส่วนในจีนเองนั้น ราคาผู้บริโภค (consumer prices) ลดลงในอัตรารายปีที่เร็วที่สุดในรอบ 15 ปีในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยลดลง 0.8% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (producer price index) ของประเทศลดลง 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าภาวะเงินฝืดของจีนอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่สำคัญกับจีน รวมถึงชาติสมาชิกอาเซียนและไทย ซึ่งเมื่อมองในฐานะภูมิภาค อาเซียนคือภูมิภาคที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในเวลานี้

นักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปกล่าวว่า ราคาที่ลดลงในจีนอาจช่วยให้ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่เคลื่อนไหวเร็วขึ้นเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่นำเข้าสินค้าจีนค่อนข้างมาก

หลุยส์ คอสต้า หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์หนี้สาธารณะในตลาดเกิดใหม่ของซิตี้กรุ๊ป กล่าวว่า ราคาสินค้าที่ลดลงซึ่งนำเข้ามาจากจีนจะส่งผลต่อตลาดต่างๆ อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของการนำเข้าว่ามีมากน้อยเพียงใด

สินค้าจีนที่ผลิตได้ในราคาประหยัดเป็นจุดเด่นของการค้าโลกนับตั้งแต่ที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 แต่อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลงของจีนในเวลานี้ ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตในตลาดอสังหา ริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อและเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ทำให้นักลงทุนพากันคาดการณ์ว่า การส่งออกจะเป็นหัวจักรที่ทรงพลังเป็นพิเศษในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในปีนี้

ในแง่มุมหนึ่ง โอกาสที่จีนจะส่งออกภาวะเงินฝืดสู่ต่างประเทศนั้นมีความสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีแนวโน้มว่าการส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีนในปี 2567 จะนำไปสู่ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในละตินอเมริกา แอฟริกา คาซัคสถาน หรืออินโดนีเซีย Charles Robertson หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาคของ FIM Partners กล่าว “ภาวะราคาที่ลดลงของจีนในสินค้าอุตสาหกรรมอาจเปิดทางให้สินค้าโภคภัณฑ์ขยับราคาขึ้นได้เล็กน้อย”

 

จีนเร่งส่งออกสินค้า ดัมพ์ราคารอบ 16 ปี ‘เงินฝืด-ผลผลิตล้น’

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงลบคือ การส่งออกสินค้าต่างๆของจีนในราคาถูกมาก ทุ่มตลาดมายังอาเซียนรวมทั้งไทย ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของไทยและอาเซียน โดยเฉพาะกิจการขนาดย่อมและขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนได้ บางรายอาจต้องปิดตัวออกจากตลาดไป

ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มีการคาดการณ์ว่า ภาวะเงินฝืดและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน มีโอกาสจะยืดเยื้อไปได้อีกเกิน 6 เดือนถึง 1 ปี

“ภาวะเงินฝืดที่ค่อนข้างรุนแรงของจีนครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่มีอัตราเงินเฟ้อติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิต ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศจีนเองที่ยังอ่อนแอไม่สามารถดูดซับได้ จึงมีการส่งออกสินค้าต่างๆ ในราคาถูกมาก ทุ่มตลาดมายังไทยและอาเซียน”

ทั้งนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า จีนกำลังส่งออกภาวะเงินฝืดผ่านการทุ่มตลาด การที่ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน ทำให้เกิดสภาวะผู้ซื้อหรือผู้บริโภคชะลอการซื้อ เพราะคาดว่าราคาจะปรับลดลงมาอีก ด้านผู้ผลิตก็ชะลอการผลิต เพราะขายไม่ได้ราคา ภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นเมื่อมีอุปทานสูง คือมีส่วนเกินของผลผลิตมากจากการลงทุนส่วนเกินหรือลงทุนอย่างไม่ระมัดระวัง และมีอุปสงค์ตํ่า การบริโภคลดลงมาก หรืออุปทานเงินลดลง และดอกเบี้ยสูง

นอกจากนี้ ภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อลดตํ่าลงดังกล่าว ยังอาจเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ผลิตภาพของแรงงานและทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การเปิดเสรีที่ทำให้การแข่งขันมากเกินไป ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะเจ้าหนี้ได้ประโยชน์ ขณะที่ภาระหนี้แท้จริงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น มูลค่าแท้จริงของหนี้สินสูงขึ้น และเป็นภาวะที่คนที่ถือเงินสดได้ประโยชน์ เพราะอาจเกิดโอกาสของการลงทุนด้วยต้นทุนที่ตํ่าได้มากขึ้น

เมื่อมองดูสถานการณ์ในจีนจะพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตล้วนปรับตัวติดลบ ในส่วนของดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน ตัวเลขล่าสุดเดือนม.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลงติดลบ -2.5% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค.ติดลบเป็นเดือนที่ 4 เหมือนประเทศไทย โดยจีนมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -0.8% ส่วนไทยมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -1.1%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินฝื และอัตราเงินเฟ้อติดลบในจีนนั้น ยํ่าแย่กว่าไทย ถึงแม้ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนเหมือนกัน แต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีที่แล้วของจีนติดลบ ขณะที่ไทยยังคงเป็นบวกอยู่