กิตติรัตน์ บี้ "สหกรณ์ออมทรัพย์" ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ให้ขรก.เงินเดือนเหลือ

12 ก.พ. 2567 | 14:43 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 17:53 น.
22.1 k

“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานบอร์ดแก้หนี้ บี้สหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ ลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 4.75% ให้ข้าราชการ-พนักงานรัฐวิสาหกิจมีเงินเดือนเหลือไม่ต่ำกว่า 30% พร้อมหาทางดึงสถาบันการเงิน ร่วมคลินิกแก้หนี้ ปักธงแก้กลุ่มหนี้เสียบัตรเครดิต

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เปิดเผยในงานแถลงความคืบหน้าผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ตอนหนึ่งว่า 

รัฐบาลกำลังหาทางให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเหลือ 4.75% โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถมีเงินเดือนเหลือเอาไว้ใช้ในบัญชีไม่ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือนไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ หลังพบว่า ที่ผ่านมาบางสหกรณ์คิดอัตราดอกเบี้ยสูงมาก เช่น สหกรณ์การเกษตรบางแห่งคิดดอกเบี้ยถึง 7% 

“ที่ผ่านมาได้คุยกันจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่าอัตรา 4.75% เป็นอัตราที่เหมาะสมที่สุด จึงขอให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เหลือ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการก็ให้เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาให้ได้ตามนี้ เพื่อให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมีเงินเหลือไปดำรงชีพในแต่ละเดือนได้มากขึ้น ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลงมาทุก 1% รัฐบาลเชื่อว่าจะช่วยลูกหนี้ได้จำนวนมาก” นายกิตติรัตน์ ระบุ

 

ายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย

ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินบางแห่ง โดยเฉพาะผู้ให้บริการบัตรเครดิต เข้ามาร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้ของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เช่น กลุ่มที่มีหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล โดยกำหนดเงินต้นที่ถูกต้อง และการผ่อนชำระคืนในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 3-5% ซึ่งเชื่อว่าไม่นานนี้จะดึงให้เข้ามาร่วมโครงการให้ครบทุกราย

ส่วนหนี้สินอื่น ๆ ที่ลูกหนี้ต้องรับภาระผ่อนชำระดอกเบี้ยสูงนั้น ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีระเบียบในการกำกับดูแลเกี่ยวกับการตัดยอดเงินผ่อนชำระ โดยจะไม่ใช่การตัดแค่ดอกเบี้ยแต่ให้บางส่วนเมื่อชำระมาแล้วก็ให่ไปตัดเงินต้นให้มากที่สุดด้วย ซึ่งขณะนี้ยังมีสถาบันการเงินบางแห่งยังไม่ดำเนินการ ซึ่งจะเป็นหนี้ที่ของ ธปท. ไปกำชับให้สถานบันการเงินต้องทำตาม เพราะถ้าไม่ทำตามจะถือว่ามีความผิด

ขณะที่การแก้ไขหนี้ในกลุ่มของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ลูกหนี้รหัส 21” รัฐบาลตั้งเป้าหมายการปิดบัญชีหนี้เสียให้ได้ 1.1 ล้านรายภายในกลางปี 2567 นี้ หลังจากปัจจุบันได้ปิดบัญชีหนี้เสียแล้วมากกว่า 630,000 บัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท 

 

ายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย