มุมมอง เศรษฐกิจไทย และ เงินดิจิทัล จาก 4 นักการเมือง

10 ก.พ. 2567 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2567 | 09:28 น.

เปิดมุมมองภาวะเศรษฐกิจไทย วิกฤตหรือไม่ รวมถึงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ จำเป็นและเร่งด่วนเพียงใด ผ่านมุมมองของ 4 นักการเมืองจากต่างพรรค

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะใช้คำว่าวิกฤตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละสาขาอาชีพ ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน แต่ภาพสะท้อนที่ชัดเจน ลองมองไปที่ตลาดทุนไทย แทบไม่มีความหวัง เพราะในช่วงที่ผ่านมาไม่มีบริษัทเอกชนไทยที่ทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ จดทะเบียนเพิ่มเติมเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแต่ธุรกอจแบบดั้งเดิมที่ทำมายาวนาน หากเทียบกับต่างประเทศ ไทยยังถือว่าห่างไกล

“ถ้าตลาดหุ้นยังเป็นแบบนี้ ไม่มีใครอยากมาลงทุน ตบาดอสังหาฯ ก็ไม่บูมเหมือนกัน ราคาสูง ประชาชนเอื้อมไม่ถึง กระทบเป็นห่วงโซ่หลายประเภทธุรกิจ เศรษฐไทย ต้องรีบปรับโครงสร้าง”

สำหรับโครงการเงินดิจิทัล ส่วนตัวไม่ต่อต้าน แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ตกผลึก ทำให้การสื่อสารไม่ชัดเจน ขาดการจัดการที่ดี การกู้เงินไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องไปดูเรื่องความคุ้มค่าและเพดานการกู้ ทั้งนี้ ระหว่างดำเนินการเงินดิจิทัล ฝากเตือนรัฐบาลว่า อย่าลืมพัฒนาคนในประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึม ไม่ถึงกับแย่ ขาดกำลังซื้อในขณะที่ราคาสินค้าอยู่ในระดับสูงบางรายการ ส่วนกำลังหลักของเศรษฐกิจไทย อย่างภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดีนั้น ก็ไม่กระจายตัวเท่าที่ควรและไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องด้วย

“เศรษฐกิจไทยต้องได้รับการกระตุ้น แต่อุปสรรคคืองบประมาณปี 2567 ก็ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เร็วที่สุดคือเดือนพฤษภาคม ขณะที่พี่น้องชาวเกษตรก็ต้องประสบภาวะปัญหาเรื่องราคาสินค้า”

โครงการเงินดิจิทัล แม้การก่อหนี้จะเป็นเรื่องที่พึงระวัง แต่การก่อหนี้ึครั้งนี้เป็นการนำเงินมาเพื่อสร้างฐานะทางการเงิน ประกอบกับรัฐบาลมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ส่วนกรณีความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตรัฐบาลก็มีการตั้งคณะกรรมการดูแลแล้ว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย มองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยวิกฤติ แต่ไม่มาก อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวล เพราะเศรษฐกิจโลกยังผันผวน คิดว่าปีนี้ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อกระจายเม็ดเงินออกมาให้มากที่สุด ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต้องรักษาเอาไว้ให้ได้

“ในปีนี้ ไทยควรมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องรอพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากประเทศเหล่านั้น”

ส่วนโครงการเงินดิจิทัล ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แต่ผลของการดำเนินโครงการจะออกมาดีหรือไม่นั้น ต้องวิเคราะห์ให้ดี และต้องมองถึงการดำเนินมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื่นฐานต่าง ๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าในระยะยาว

ด้านนายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง กล่าวว่าจากการลงพื้นที่พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ที่ตนเองดูแลอยู่ มีหนี้สินทุกครัวเรือน โดยเฉพาะเกษตรกรไทย จากราคาผลผลิตตกต่ำ ราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ไปจนถึงการขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำและตลาด เมื่อกู้จนเต็มแล้ว ก็ต้องไปกู้นอกระบบ เป็นปัญหาต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทย มีฐานที่ไม่แข็งแรง เศรษฐกิจโดยรวม จึงไม่แข็งแรง

สำหรับโครงการเงินดิจิทัล ส่วนตัวไม่ได้ติดขัดอะไร เพราะพี่น้องประชาชนหลายคนอยากได้ หลายครอบครัวมีหนี้สินเยอะ แต่ก็ต้องคำนึงวินัยการเงินการคลัง ส่งกระทบภาครวมหรือไม่ ทั้งนี้ หากมองในมุมเกษตรกร สิ่งที่อยากได้ตอนนี้คือ ’ทุกอย่าง‘ ตั้งแต่มาตรการช่วยเหลือการลดต้นทุนการผลิตไปจนถึงการแจกเงิน