‘บีโอไอ’ถกอีอีซี-รฟท. เร่งไฮสปีดจบใน กุมภาฯ

07 ก.พ. 2567 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2567 | 10:14 น.

        “บีโอไอ” นัดถกอีอีซี.-รฟท. หลังเอกชนยื่นอุทธรณ์ขยายเวลาออกบัตรส่งเสริม อุ้มไฮสปีด ขีดเส้นต้องจบก.พ.นี้ ฟากอีอีซี เปิดเอกชนยื่นสิทธิประโยชน์ ยึดกฎหมายอีอีซี ตั้งเป้าลงนามแก้สัญญาฯ-ตอกเข็มปีนี้

กรณีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่อนุมัติ ขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3 ให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี คู่สัญญาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือไฮสปีดเทรน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่บีโอไอมองว่า โครงการยังไม่มีความพร้อมลงทุนและเอกชนได้ยื่นอุทธรณ์นั้น         

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่ากรณีที่เอกชน ได้อุทธรณ์ขยายเวลา ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่3 โดยให้เหตุผลว่า การแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อการจัดหาเงินทุนของโครงการ และทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

เบื้องต้นบีโอไอจะหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมกับเอกชนเกี่ยวกับสถานะการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ และความจำเป็นในการขยายเวลาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน รวมถึงจะหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรือ อีอีซีและ รฟท. ถึงทางออกของปัญหาดังกล่าว ก่อนที่จะพิจารณาคำขออุทธรณ์ของเอกชนต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

 “ส่วนความเป็นไปได้ที่บีโอไอจะอนุมัติการยื่นอุทธรณ์ของเอกชนในครั้งนี้นั้น ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากบีโอไออยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติมและสอบถามความเห็นทั้ง 2 หน่วยงานก่อน แต่เอกชนยังคงมีสิทธิยื่นขอรับการส่งเสริมใหม่จากบีโอไอ เมื่อไรก็ได้หากมีความพร้อม โดยบีโอไอจะเร่งพิจารณาให้โดยเร็ว ซึ่งกระบวนการใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากสาระสำคัญของโครงการไม่ได้เปลี่ยนแปลงและมีรายงานการวิเคราะห์เดิมอยู่แล้ว”

   สำหรับโครงการไฮสปีด ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน ได้รับการอนุมัติส่งเสริมจากบีโอไอ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563 โดยเอกชนมีการยื่นขอขยายเวลาการตอบรับมติให้การส่งเสริมและขอขยายเวลาการยื่นเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมมา 2 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องรอการแก้ไขสัญญาระหว่าง รฟท. และเอกชน โดยการขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 2 เอกชนต้องส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริมภายในวันที่ 22 มกราคม 2567

ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาบีโอไอได้หารือกับอีอีซี และ รฟท. ถึงความคืบหน้าของโครงการไฮสปีดซึ่งในที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรเร่งรัดให้เอกชนดำเนินการตามโครงการโดยเร็ว หากเอกชนยื่นขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 บีโอไอจะทำหนังสือสอบถามความเห็นจากอีอีซีและ รฟท. ในฐานะเจ้าของโครงการ เพื่อประกอบการพิจารณา

   ต่อมาในเดือนมกราคม 2567 เอกชนยื่นขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 บีโอไอจึงทำหนังสือสอบถามความเห็นจากทั้งอีอีซีและรฟท. ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานให้ความเห็นว่า ความล่าช้าของโครงการจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมั่นของประเทศ อีกทั้งการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ไม่มีผลต่อการขอรับบัตรส่งเสริม จึงควรเร่งรัดให้เอกชนส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมโดยเร็วและไม่ควรขยายเวลาออกไปอีก

 “ด้วยเหตุผลดังกล่าวบีโอไอจึงพิจารณาไม่อนุมัติให้ขยายเวลาการยื่นเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 ตามความเห็นของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยได้แจ้งให้เอกชนทราบล่วงหน้า เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินการภายในวันที่ 22 มกราคม 2567 เมื่อเอกชนไม่ยื่นเอกสารภายในกำหนด มีผลทำให้มติเดิมสิ้นสุดลง”

   นายนฤตม์ กล่าวต่อว่า ในกรณีที่บีโอไอไม่อนุมัติขยายเวลาให้เอกชนยื่นเอกสารขอออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 จะเป็นเงื่อนไขให้เอกชนต่อรองในการแก้ไขสัญญาไฮสปีดหรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นระหว่างเอกชนและเจ้าของโครงการเพียงแต่บีโอไอสอบถามความเห็นทั้ง 2 หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการโดยตรงในกรณีนี้

 ทั้งนี้ในกรณีที่เอกชนไม่ยื่นเอกสารขอขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมต่อบีโอไอมีสิทธิ์จะขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีได้นั้น มองว่ามีความเป็นไปได้ เพราะกฎหมายอีอีซีสามารถให้สิทธิประโยชน์ได้เหมือนกันหรือเมื่อเอกชนมีความพร้อมสามารถกลับมายื่นเอกสารขอรับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอได้ไม่จำกัด ซึ่งบีโอไอยินดีที่ส่งเสริมโครงการฯนี้ เพราะอยากเห็นโครงการฯนี้เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายที่ยื่นเอกสารขอออกบัตรส่งเสริมจนได้รับบัตรส่งเสริมแล้ว หากมีปัจจัยที่เอกชนไม่สามารถดำเนินโครงการนั้นได้จนหยุดดำเนินโครงการไป เมื่อเอกชนมีความพร้อมก็สามารถกลับมายื่นคำขอใหม่ได้

   นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสกพอ. กล่าวว่า กรณีที่บีโอไอไม่ขยายเวลาการยื่นเอกสารขอออกบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนครั้งที่ 3 ของเอกชนจะกระทบกับการแก้ไขสัญญาไฮสปีดหรือไม่นั้น มองว่าเรื่องเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการแก้ไขสัญญาเป็นไปตามมติกพอ.อนุมัติที่ได้ข้อยุติแล้ว ส่วนการขอขยายเวลากับบีโอไอเป็นเรื่องที่เอกชนต้องดำเนินการ Operate หากได้รายได้จากการเดินรถจะได้ภาษีอย่างไรบ้าง

    ขณะเดียวกันในกรณีที่เอกชนไม่ได้มีการยื่นเอกสารขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนจะกระทบต่อแผนการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) หรือไม่นั้น ตามเดิมการขยายเวลาฯนั้นเป็นเงื่อนไขในการออก NTP แต่เมื่อเอกชนไม่ได้รับการขยายออกบัตรฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เอกชนไม่ได้ดำเนินการเอง ทำให้รฟท.ต้องเป็นผู้พิจารณาเองว่าในกรณีนี้ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้จะสละเงื่อนไขนี้เพื่อออก NTP โดยไม่ต้องรอบีโอไอหรือไม่ ปัจจุบันทราบว่าทางเอกชนได้ยื่นอุทธรณ์ขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมฯกับบีโอไอแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาจากบีโอไอ

    “ในกรณีที่รฟท.จะขอออก NTP ให้เอกชนก่อนโดยไม่ต้องรอให้เอกชนยื่นอุทธรณ์ต่อบีโอไอแล้วเสร็จสามารถดำเนินการได้หรือไม่นั้น มองว่ามีความเป็นไปได้ แต่เรื่องนี้เราตอบแทนคณะกรรมการกำกับสัญญาตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯที่มีอำนาจพิจารณา โดยมีรฟท.เป็นประธานคณะกรรมการฯไม่ได้ ซึ่งเขาจะต้องพิจารณาว่าจะไปต่ออย่างไร”

    สำหรับไทม์ไลน์การลงนามแก้ไขสัญญาโครงการฯคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ เพราะตามกระบวนการแล้วรฟท.ต้องส่งร่างเอกสารแก้ไขสัญญาฯต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะส่งมาที่กพอ.และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อลงนามแก้ไขสัญญาฯใหม่ต่อไป ซึ่งอีอีซีอยากให้โครงการฯเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ หากรฟท.แจ้ง NTP แล้วเอกชนจะต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้าง แต่ถ้ามีเหตุให้เอกชนที่จะไม่รับ NTP ก็ต้องพิจารณาอีกที

   ส่วนกรณีการเจรจากับเอกชนในโครงการฯที่ล่าช้ามีความเป็นไปได้ที่จะบอกเลิกสัญญากับเอกชนหรือไม่นั้น เรื่องนี้อีอีซีไม่ใช่คู่สัญญา เพราะฉะนั้นการดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาร่วมทุนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ รฟท. แต่ทางอีอีซีจะพิจารณาในกรณีที่หากโครงการรถไฟล่าช้าจะกระทบต่อแผนดำเนินการลงทุนในส่วนอื่นๆหรือไม่ เช่น สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากบางธุรกิจจะพิจารณาว่าโครงการฯไฮสปีดจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

   นายจุฬา กล่าวต่อว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่าอีอีซีจะเปิดโอกาสให้เอกชนมีสิทธิ์ขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีในโครงการฯนี้แทนการยื่นเอกสารขอขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนต่อบีโอไอนั้น เรื่องนี้มีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ตามหลักแล้วเอกชนมีสิทธิ์ขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอได้ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่การยื่นเอกสารขอขยายเวลาการออกบัตรฯในครั้งนี้จะต้องเริ่มกระบวนการใหม่หรือในปัจจุบันเอกชนมีสิทธิ์ขอสิทธิประโยชน์ด้านเป้าหมายอุตสาหกรรมจากอีอีซีก็สามารถดำเนินการได้ เพราะเอกชนมีสิทธิ์ใช้ได้ทั้ง 2 กฎหมาย

  “หากเอกชนต้องการขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีในโครงการฯจะต้องดำเนินการจัดทำ Business Plan ว่าเอกชนต้องการสิทธิประโยชน์ในด้านใดบ้าง ทั้งนี้การให้สิทธิประโยชน์ของอีอีซีจะขึ้นอยู่กับโครงการที่จะขอ ซึ่งอีอีซีต้องพิจารณาด้วยว่ามีสิทธิประโยชน์ได้บ้างที่เอกชนสามารถดำเนินการได้ ส่วนการขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีจะต้องระบุในการแก้ไขสัญญาโครงการฯหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะสิทธิประโยชน์เป็นเพียงตัวบอกว่าระหว่างที่ดำเนินการและได้รายได้มาจะได้รับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากภาครัฐอย่างไร ส่วนในสัญญาจะระบุเฉพาะด้านการก่อสร้างและ Operate เรื่องรถไฟเท่านั้น”

 แหล่งข่าวจากสกพอ.เสริม ว่า กรณีที่เอกชนมีสิทธิ์ขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีแทนการยื่นเอกสารขอขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนกับบีโอไอในโครงการฯนั้น เอกชนมีสิทธิ์ขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีได้ โดยตามขั้นตอนเอกชนสามารถยื่นเรื่องเข้ามาในระบบของอีอีซี ซึ่งใช้ระยะเวลาการพิจารณาไม่นาน เบื้องต้นสิทธิประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับจากอีอีซี เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ,สิทธิประโยชน์ด้านการนำเข้าบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ,สิทธิประโยชน์ด้านวีซ่า รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านการขออนุญาตในส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นไปตามกำหนดของพ.ร.บ.อีอีซี