นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางในการรับมือผลกระทบจากกรณีปัญหาจีโอโพลิติก (Geopolitics) ที่ปัจจุบันส่งผลกระทบรุนแรงรวมถึงวิกฤตทะเลแดงที่ส่อจะยืดเยื้อ โดยกล่าวยอมรับว่า เราไม่อาจปฏิเสธปัญหาปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้ และที่กังวลมากที่สุดเวลานี้ คือ อย่าให้ปัญหาบานปลายไปมากกว่านี้
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ทะเลแดงทำให้ต้องเพิ่มเวลาเดินเรือออกไปอีก 2-4 วันจึงทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากซึ่งต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด โดยเบื้องต้นตนได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วเพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนซึ่งเชื่อว่า แนวทางมาตรการต่าง ๆ ที่มีนั้นยังไม่เพียงพอเนื่องจากยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ดี พาณิชย์ ยังคงยืนนโยบายเดิม คือ ทำให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 2% ด้วยการรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่
รักษาตลาดเดิม คือ รักษาตลาดที่เรามีอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นตลาดใหญ่ของเราและพยายามพัฒนาตลาดเดิมให้มีการพัฒนามากขึ้น เช่น ตลาดจีนที่เวลานี้ติดต่อเมืองหลวงของมณฑลได้ประมาณ 7-8 แห่งแล้วซึ่งแต่ละมณฑลนั้นมีพลเมืองประมาณ 100 ล้านคน รวมกันประมาณ 700-800 ล้านคนจึงเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
วันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับกระบวนการทำงานโดยให้ทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยในส่วนของทูตพาณิชย์ได้ไปหาอินฟลูเร้นท์เซอร์ของแต่ละประเทศมาเพื่อทำงานต่อยอดให้กับเราซึ่งเรื่องนี้เราไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย และให้ทางพาณิชย์จังหวัดไปดูในส่วนของสินค้าของแต่ละพื้นที่ว่ามีอะไรที่น่าสนใจที่จะนำมาขายได้ แล้วจัดให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันโดยเอาเรื่องของดิจิทัลมาปรับใช้ให้ตรงกันและทำงานร่วมกันได้ เป็นต้น โดยดำเนินการใน 10 ประเทศยุทธศาสตร์ที่ทางกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์ และบีโอไอทำงานร่วมกัน
ในส่วนของประเทศจีนนั้นในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีโครงการใหญ่อีกโครงการโดยเชิญอินฟลูเร้นท์เซอร์ที่มีชื่อเสียงของจีนประมาณ 30-50 คนให้เดินทางเข้ามาไทยเพื่อขายสินค้าของเราที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของอินฟลูเร้นท์เซอร์แต่ละคนซึ่งเขาจะเลือกจากสินค้าที่เราได้รวบรวมไว้แล้ว เบื้องต้นกำหนดระยะเวลา 7 วัน ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ๆ ละ 15 นาที พร้อมกันนี้ได้ประสานกับซีซีทีวีของจีนให้จัดโปรแกรมขึ้นโดยดูแลทางฝั่งจีน
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม ย้ำชัดว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ทิ้งการทำตลาดรูปแบบเก่า การเจรจาการค้าก็ยังทำอยู่โดยทำควบคู่ไปกับการทำการตลาดแบบใหม่ซึ่งหากประสบความสำเร็จ เชื่อว่า จะสามารถระบายสินค้าได้จำนวนมาก
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคิดเป็น 60% ของฐานรากของเศรษฐกิจทั้งระบบ จากการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด พบว่า ดิสซิบิวเตอร์ไทยซึ่งเติบโตอยู่ที่นั่นมีศักยภาพที่ดีมากจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้ รวมถึงการปรับการบริหารจัดการคลังสินค้าของไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย
"คลังสินค้าจะปรับเปลี่ยนเป็น ตู้เย็น เป็นคลังสินค้าสำหรับคนตัวเล็ก ๆ เมื่อเห็นว่า ซัพพลายล้นตลาดก็ดูดซับไว้ซึ่งจะทำให้ราคาได้ดุลยภาพ เมื่อเห็นว่า ตลาดไม่มีของก็ปล่อยของออกมาซึ่งเหล่านี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีเทคโนโลยีที่ดีถ้าเราจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ดีก็สามารถที่จะไปเปิดตลาดใหม่ ๆ ได้
นี่คือ มิติของการทำการค้าขายแบบใหม่ซึ่งสอดรับกับระเบียบโลกใหม่ที่กำลังพูดถึงเรื่องของพลังสะอาด ธุรกิจสีเขียวและความยั่งยืน วันนี้ผู้บริโภคเป็นคนกำหนดตลาด ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นของคนที่เท่าทันและเปลี่ยนตัวเองได้เร็ว สิ่งที่เราทำทั้งหมด คือ ทำความเข้าใจและจัดระบบ วางระบบบิ๊กดาต้าของเราให้ดี" นายภูมิธรรม ระบุ และว่า
นอกจากนี้เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 9 ชุดโดยนำข้าราชการจากทุกกรมมาบูรณาการทำงานร่วมกัน เช่น คณะอนุกรรมการลอจิสติกส์, อนุกรรมการในการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่, อนุกรรมการในการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคและอนุกรรมการทำความสัมพันธ์ไทยจีนอาเซียน เป็นต้น
"รัฐบาลมีทีมไทยแลนด์ กระทรวงพาณิชย์มีทีมพาณิชย์ที่พร้อมจะซัพพอร์ตการทำงาน การวางงบประมาณปี 68 จึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยกระทรวงพาณิชย์ มี 3 เสาหลักที่จะทำ เสาแรก คือ บริการและการลดภาระ เสาที่สอง คือ การขจัดอุปสรรค อาทิ การกรอกเอกสารต่าง ๆ รวมถึงการแก้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่จะเสนอให้ ครม. พิจารณา รวมถึงข้อบังคับต่าง ๆ ของกระทรวง และเสาที่สาม คือ การสร้างโอกาสให้กับคนตัวเล็ก สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการใหม่ทั้งรายเล็กและรายใหญ่" นายภูมิธรรม กล่าว