ชาวนาไม่สนภัยแล้ง แห่ปลูกข้าวนาปรังทะลุ 8 ล้านไร่

05 ก.พ. 2567 | 13:59 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2567 | 14:00 น.
661

ชาวนาไม่สนภัยแล้ง แห่ปลูกข้าวนาปรัง 2566/67 กว่า 8 ล้านไร่ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ทะลุ 5.5 ล้านไร่ สูงกว่าแผนที่กำหนดถึง 2.5 ล้านไร่

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงาน สถานการณ์การเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศ ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 รวม 8.65 ล้านไร่ สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ 6.37 ล้านไร่ จำนวน 2.28 ล้านไร่

โดยแบ่งเป็นการปลูกข้าวนาปรัง 8.19 ล้านไร่ สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ 5.80 ล้านไร่ จำนวน 2.39 ล้านไร่ การเพาะปลูกพืชไร่-พืชผัก จำนวน 4.6 แสนไร่ ตำกว่าแผนที่ตั้งเป้าไว้ 5.7 แสนไร่ จำนวน 1.1 แสนไร่

เมื่อจำแนกรายพื้นที่พบว่า การเพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2566/67 ล่าสุดอยู่ที่ 5.54 ล้านไร่ สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ 3.03 ล้านไร่ ถึง 2.51 ล้านไร่ และคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 จะมีการปลูกข้าวนาปรังทั้งสิ้น 5.92 ล้านไร่

ตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2566/67 ลุ่มเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งเป้าจัดสรรน้ำ 8,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุด ณ วันที่ 5 ก.พ. 2567 จัดสรรน้ำไปแล้ว 4,127 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48%ของแผน คงเหลือ 4,573 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 52%ของแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2566/67

แผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2566/67

 

แผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2566/67 ลุ่มเจ้าพระยา แบ่งการจัดสรรน้ำ สำหรับภาคการเกษตร 4,693 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. อุปโภคบริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 2,722 ล้าน ลบ.ม.

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ระบุว่า สำหรับแนวทางในการดำเนินงาน และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566/67 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด และไม่เกิดผลกระทบกับการบริหารจัดการน้ำในระยะต่อไป ต้องบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวด และสอดคล้องกับสถานการณ์

ขณะเดียวกันต้องมีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกร งดเพาะปลูกข้าวนาปรัง รอบที่ 2 หลังการเก็บเกี่ยว เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่น การปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้ง สร้างการรับรู้ผ่านสื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ

นอกจากนี้ยังได้เตรียมแนวทางการบริหารจัดการน้ำการช่วยเหลือ ส่งน้ำแบบประณีตตามรอบเวรแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้ในทุกภาคส่วน พิจารณาการใช้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ แหล่งน้ำตนเองและแหล่งน้ำอื่นๆในพื้นที่ รวมทั้งการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆเพื่อพร้อมให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที