"กนอ."คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านรับผิดชอบสังคม-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

01 ก.พ. 2567 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2567 | 12:16 น.

"กนอ."คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านรับผิดชอบสังคม-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ภายใต้แนวคิดรัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้แนวคิดรัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES

ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวสะท้อนความสำเร็จและความมุ่งมั่นของ กนอ. ในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง

ส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการและการบริหารจัดการโรงงานบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจประเมินโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

ซึ่งมีชุมชนโดยรอบนิคมฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม 

"กนอ."คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านรับผิดชอบสังคม-สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนปี 66

สำหรับรางวัลดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว หรือ Green Star Award) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 โดยเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก่อนที่จะขยายการดำเนินโครงการไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน 

โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมอบใบประกาศเกียรติคุณและมอบธงที่มีสัญลักษณ์ดาวสีเขียวให้แก่โรงงานที่มีผลการประเมินการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม 
 

นอกจากนี้  โรงงานที่รักษามาตรฐานการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ยังได้รับมอบประกาศเกียรติคุณและมอบธงธรรมาภิบาลยอดเยี่ยม (Gold Star Award) 

“กนอ. มุ่งมั่นดำเนินงาน เพื่อการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชุมชนรอบนิคมฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสคร."