โรงสกัด-โรงกลั่น เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 18 เดือน

26 ม.ค. 2567 | 08:19 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2567 | 08:19 น.
1.5 k

“โรงสกัด-โรงกลั่น” เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาปาล์มพุ่ง 7 บาท ทำนิวไฮรอบ 1 ปี 6 เดือน ชาวสวนยิ้มร่า หวังกฎหมายคุมเข้มลานเท หนุนราคาดีต่อเนื่อง ห่วง “กระทรวงพลังงาน” สั่งยกเลิกชดเชยไบโอดีเซลทำราคาตก เตรียมหารือทุกฝ่ายหามาตรการรองรับ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดปี 2567 ผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนมกราคมจะมีประมาณ 1.063 ล้านตัน คิดเป็นนํ้ามันปาล์มดิบ 0.191 ล้านตัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2566 ที่มีผลผลิตปาล์มทะลาย 1.100 ล้านตัน คิดเป็นนํ้ามันปาล์มดิบ 0.198 ล้านตัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาผลปาล์มน้ำมันขยับขึ้น

โรงสกัด-โรงกลั่น เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 18 เดือน

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (บจก.) ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือและท่าเทียบเรือ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดผลปาล์มนํ้ามันทั้งทะลาย เปอร์เซ็นต์นํ้ามันปาล์ม 18-19% ณ วันที่ 22 มกราคม 2567 อยู่ที่ 7 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ถือเป็นสถิติสูงสุดรอบ 1 ปี 6 เดือน มีปัจจัยบวกจากผลผลิตปาล์มนํ้ามันของเกษตรกรลดลง ส่งผลให้โรงงานทั้งโรงสกัดนํ้ามันปาล์ม และโรงกลั่นนํ้ามันปาล์ม มีการแข่งขันกันซื้อมากขึ้น

ทั้งนี้จากราคาปาล์มที่ดีผลประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกร ขณะที่ในเร็วนี้ ๆ จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่องผู้ประกอบการจุดรับซื้อผลปาล์มนํ้ามัน (ลานเท) ห้ามแยกขายลูกร่วง โดยใช้ตะแกรง หรือรางเทสำหรับลำเลียงทะลายปาล์มนํ้ามัน หรืออุปกรณ์สิ่งอื่นใดสำหรับแยกผลปาล์มนํ้ามันร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ จะทำให้โรงงานนำผลปาล์มเข้ากระบวนบีบสกัดได้เปอร์เซ็นต์นํ้ามันที่ดีมากขึ้น และจะส่งผลต่อดีต่ออุตสาหกรรมปาล์มดีทั้งระบบ จากปัจจุบันนํ้ามันปาล์มดิบ(ซีพีโอ)ในประเทศไม่มีการส่งออก เพราะราคาในประเทศสูงกว่าราคาต่างประเทศ กก.ละ 2 บาท

โรงสกัด-โรงกลั่น เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 18 เดือน

ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ และกรรมการใน คณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวว่า จากที่ไม่มีการส่งออก จะทำให้สต๊อกนํ้ามันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดผลผลิตปาล์มจะเริ่มออกมามากในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะยกเลิกอุดหนุนการชดเชยราคานํ้ามันไบโอดีเซล (ปัจจุบันอุดหนุนอยู่ 3.47 บาทต่อลิตร) เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามกลไกตลาด 

 

โรงสกัด-โรงกลั่น เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 18 เดือน

 

รวมทั้งราคาไบโอดีเซล (B100) จะไม่มีการนำเงินกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง ไปชดเชยราคาอีกต่อไป เนื่องจากฐานะกองทุนนํ้ามันฯ ล่าสุดที่รายงาน โดยสํานักงานกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (สกนช.) ณ วันที่ 14 ม.ค. 2567 พบว่ากองทุนฯ ยังติดลบ 81,294 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) โดยจะประกาศยกเลิกภายในวันที่ 24 กันยายน 2567 (จากเดิมมาตรการจะสิ้นสุดปี 2569)

 

 

“ล่าสุดมีข่าวว่าการยกเลิกการชดเชยราคาจะขยับเร็วขึ้นเป็นเดือนมีนาคม ซึ่งจะได้นำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน โดยในคณะมีกรรมการจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายราชการจากกระทรวงเกษตรฯ อุตสาหกรรม พาณิชย์ รวมถึงภาคเอกชน ที่มาจากโรงสกัดนํ้ามันปาล์ม โรงกลั่นนํ้ามันปาล์มด และเกษตรกร เพื่อช่วยกันหามาตรการรองรับว่าหากไม่มีมาตรการนี้จะทำอย่างไรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มไม่ให้เกษตรกรขายปาล์มขาดทุน”

 

โรงสกัด-โรงกลั่น เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 18 เดือน

 

ขณะที่นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มนํ้ามันแห่งประเทศไทยและกรรมการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม กล่าวว่า หากเกษตรกรยกระดับเปอร์เซ็นต์นํ้ามันปาล์ม จะสามารถส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้น โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยราคานํ้ามันเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือมีมาตรการอุดหนุนการส่งออกโรงงาน กก.ละ 2 บาทได้ในอนาคต รวมถึงต้องใช้กฎหมายของ กกร.เรื่องห้ามลานเททำให้ผลปาล์มนํ้ามันร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในเร็ว ๆ นี้

“ที่ผ่านมาโรงงานอ้างเหตุผลหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาผลปาล์มราคาตํ่า เพราะมีการแยกลูกร่วง ดังนั้นหากมีกฎหมายออกมาระบุชัด หากลานเทฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการขายแยกลูกร่วงจะมีเฉพาะภาคใต้ ส่วนภาคอื่นๆ จะขายรวม”

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,960 วันที่ 25-27 มกราคม พ.ศ. 2567

 

จัดระเบียบลานเท

โรงสกัด-โรงกลั่น เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 18 เดือน

 

โรงสกัด-โรงกลั่น เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาปาล์มสูงสุดรอบ 18 เดือน