จากกรณีที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดให้ผู้ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.4-01 มีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407 ไร่ ซึ่ง ส.ป.ก.เปิดให้เกษตรกรที่เข้าเงื่อนไขลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้มอบโฉนดที่ดินให้กับเกษตรกรที่ลงทะเบียนเพื่อขอเปลี่ยนโฉนด ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 25,000 รายทั่วประเทศ
ยังคงมีคำถามตามมาว่า “โฉนดที่ดิน และ โฉนดเพื่อการเกษตร” นั้นแตกต่างกันอย่างไร สำนักงานที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แจ้งดังนี้
โฉนดที่ดิน คือ
- เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ครอบครองออกโดยอาศัยตามประมวลกฎหมายที่ดิน (กระทรวงมหาดไทย)
โฉนดเพื่อการเกษตร คือ
- เป็นกรรมสิทธิ์เป็นของ ส.ป.ก. อาศัยอำนาจตาม พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยอนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ (กระทรวงเกษตร)
- เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนด
- เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธ.ก.ส. หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น
- สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ (โฉนดต้นไม้) และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ อบก.
- ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ