เศรษฐกิจไม่ฟื้น แนะ SME ลดเสี่ยง รัดเข็มขัด ลดต้นทุน

21 ม.ค. 2567 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2567 | 08:53 น.

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชี้ 7 ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจฉุด GDP และ GDP SME ในประเทศ แนะบริหารความเสี่ยง รัดเข็มขัด ลดต้นทุน รักษาตลาดฐานลูกค้าเดิม แสวงหาลูกค้าใหม่ นำเทคโนโลยีเสริมแกร่ง สร้างการเติบโตยั่งยืน

KEY

POINTS

  • ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย การกระตุ้น GDP ให้กับประเทศและเพิ่มสัดส่วน GDP SME มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก
  • 7 ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1. สงคราม 2. เศรษฐกิจ 3. ปัญหาสังคม 4. สิ่งแวดล้อม 5. สุขภาพ 6. ด้านการศึกษา 7. เสถียรภาพทางการเมือง กับนโยบาย มาตรการของรัฐบาลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงรุกที่เป็นรูปธรรม
  • SME ต้องมีแผนบริหารความเสี่ยง ต้องมีมาตรการรัดเข็มขัด ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มออกไป การรักษาตลาดฐานลูกค้าเดิม การแสวงหาตลาดใหม่

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย การกระตุ้น GDP ให้กับประเทศและเพิ่มสัดส่วน GDP SME ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกได้แก่

1. สงคราม สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคของโลกที่มีระหว่างคู่ขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลกและสะเทือนถึงเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนโลจิสติกส์ ต้นทุนปัจจัยวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต และสินค้าทุนจากต่างประเทศที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. เศรษฐกิจ ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น เพราะเศรษฐกิจโลกผันผวน พร้อมกับสภาพบอบช้ำของสภาวะหนี้ที่รุมเร้า ดอกเบี้ยปรับตัวสูง รายได้ไม่เพียงรายจ่าย ผู้คนพร้อมรัดเข็ดขัด ผู้ประกอบการเผชิญต้นทุนเพิ่มขึ้น กำลังซื้อในแต่ละประเทศที่ลดลงส่งผลต่อภาคการส่งออก รวมทั้งกำลังซื้อภายในประเทศที่ซบเซาจาก GDP ที่ขยายตัวต่ำเพียง 2.4% ในปี 2566 ไทยยังต้องระวังความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากระเบิดหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบที่ประทุรอลุกลาม ผู้ประกอบการไทยเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

3. ปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด การพนันออนไลน์ และการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นมะเร็งทางสังคมไทย และสร้างค่านิยมเป็นวัฒนธรรมวัตถุนิยม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเพราะงบประมาณที่มีอย่างจำกัดในการพัฒนาประเทศ

เศรษฐกิจไม่ฟื้น แนะ SME ลดเสี่ยง รัดเข็มขัด ลดต้นทุน

4. สิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน โลกเดือด คาร์บอนเครดิต Carbon Neutrality Net Zero การเปลี่ยนผ่านสู่ Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ต้องสร้างให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ไม่ใช่เป็นอุปสรรค

5. สุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนไทยที่มีภาวะความเสี่ยงต่อโรคอุบัติใหม่ที่ยังต้องเฝ้าระวังดูแลรักษาสุขภาพการดูแลรักษาสุขภาพที่จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่าย มีคุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ใกล้เคียงกัน และเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพไม่สร้างภาระให้คนวัยทำงาน

6. ด้านการศึกษา ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ที่ขยายวงออกไปจะต้องเตรียมความพร้อมการพัฒนากำลังคนในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ทั้งทักษะทางคิดวิเคราะห์ ภาษาต่างประเทศ การสื่อสาร การแก้ไขปัญหา ดิจิทัลเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวเข้ากับสังคมและความเป็นผู้ประกอบการ

7. เสถียรภาพทางการเมือง กับนโยบาย มาตรการของรัฐบาลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมผ่านงบประมาณไปยังแต่ละหน่วยงานแต่ละพื้นที่ รวมถึงความผันผวนทางการเมืองกับทิศทางการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภากลางปีที่จะเกิดขึ้น และการแก้ไขกฎหมายต่างๆที่จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

นายแสงชัย กล่าวอีกว่า แผนกลยุทธ์เพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คือ การประยุกต์ใช้ 7 หลักเศรษฐกิจพิชิตความเสี่ยง สร้าง DNA SME ไทย คือ เศรษฐกิจพอเพียง สร้างภูมิคุ้มกันไม่ก่อหนี้เกินตัว, เศรษฐกิจดิจิทัล การประยุกต์ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ดิจิทัลเทคโนโลยีกับธุรกิจเพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพกิจการ และมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การส่งเสริมพัฒนาทักษะ ขีดความสามารถความเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานให้เข้าถึงนวัตกรรม, เศรษฐกิจสีเขียว ที่สร้างความตระหนักในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ,เศรษฐกิจหมุนเวียน ลดนำเข้า ผลิตเอง ใช้เอง,เศรษฐกิจแบ่งปัน การสร้างสรรค์ธุรกิจที่ให้คุณค่าควบคู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมดุลและเป็นธรรม , เศรษฐกิจฐานราก กระจายโอกาส และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

“สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 แผนการบริหารความเสี่ยงยังต้องคำนึงถึงมาตรการรัดเข็มขัด ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มออกไป การรักษาตลาดฐานลูกค้าเดิม การแสวงหาตลาดใหม่เพิ่มเติมยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเพิ่มรายได้ยอดขายของธุรกิจที่ต้องมาพร้อมกับการเร่งพัฒนา สินค้า บริการ ผู้ประกอบการ แรงงาน และธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี นวัตกรรมมาขับเคลื่อนองค์กรสร้างความยั่งยืน”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,958 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2567