เจาะลึกโอกาส "เวียดนาม" กับเป้าหมายประเทศเศรษฐกิจพัฒนาเเล้วปี 2050

21 ม.ค. 2567 | 17:44 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2567 | 17:48 น.
691

เจาะลึกโอกาส ความเป็นไปได้ เเละความท้าทายของประเทศเวียดนาม กับเป้าหมายไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาเเล้ว ในปี 2050

ความน่าสนใจในระหว่างการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ที่ผ่านมา ก็คือการที่ "เวียดนาม ประกาศชัดกลางเวที WEF 2024 ตั้งเป้าเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2050" พร้อมยืนยันแนวนโยบายของเวียดนามในยุทธศาสตร์การพัฒนาโลก

ในเวทีนอกรอบซึ่งมี ศาสตราจารย์ เคลาส์ ชวับ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ WEF และผู้นำ 100 คน ตัวแทนของประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ บรรษัท และธุรกิจต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของ WEF ดำเนินรายการโดย โธมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทม์ส

ศาสตราจารย์ เคลาส์ ชวับ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ WEF กล่าวว่า “เวียดนามไม่เพียงแต่เป็นดาวเด่นในเอเชียตะวันออกเท่านั้น แต่ยังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง เป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจระดับโลกอีกด้วย เขาชื่นชมบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเวียดนามเป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่าเวียดนามได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้บุกเบิกการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและอัจฉริยะอย่างแท้จริง”

เมื่อมีการเริ่มสอบถามประสบการณ์ของเวียดนาม แนวทางการพัฒนา และการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาระดับโลก

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ย้ำถึงแนวทางการพัฒนาที่สำคัญของเวียดนาม ระบุว่า “เวียดนามมีวัตถุประสงค์คือ การสร้างประเทศชาติที่เข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่ง การพัฒนาโดยรวมของประชาชน ด้วยวิสัยทัศน์สู่ปี 2030 เวียดนามจะกลายเป็น "ประเทศกำลังพัฒนา" ที่ทันสมัย มีรายได้ปานกลางระดับสูง  ในขณะที่เป้าหมายในปี 2050 เวียดนามจะกลายเป็น "ประเทศพัฒนาแล้ว" ที่มีรายได้สูง” 

ความเป็นไปได้ "เวียดนาม" จะเป็นประเทศพัฒนาเเล้วภายในปี 2050 

คุณชยนนท์ รักกาญจนันท์ CEO & Co founder FINNOMENA Funds ระบุว่า การจะเป็นประเทศพัฒนาเเล้วมีตัวชี้วัดบางอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์มักใช้ คือ รายได้ต่อหัวของประชากร หรือ GDP Per Capita อย่างน้อยประมาณ 12,700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 440,000 ต่อปี หรือ 37,000 บาทต่อเดือน (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 19 ม.ค.67 ) ซึ่งข้อมูลของเวียดนาม เมื่อปี 2022 อยู่ที่ 3,740 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

เเต่เพื่อให้เห็นภาพหากนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย โดยพิจารณา ไทยมีรายได้ต่อหัว อยู่ที่ 7,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีซึ่งมากกว่าเท่าตัว มองเเบบนี้น่าจะเป็นประเทศพัฒนาเเล้วหรือรายได้สูงเร็วกว่าเวียดนาม เเต่มีข้อมูลที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ GDP 10 ปีย้อนหลัง เเละ GDP Per Capita ของเวียดนาม เฉลี่ยโตที่ 6.3%-6.5% ต่อปี ในขณะที่ประเทศไทย 10 ปี GDP Per Capita โตอยู่ที่ 2.5 %

"ตัวเลขชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ที่สูงเเต่เริ่มเดินช้า ขณะที่เวียดนามมากจากจุดที่อยู่ด้านล่างเดินเร็วขึ้น หากคำนวน ถ้า GDP Per Capita 3,700 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้า 2050 จะได้ 12,700 ดอลลาร์สหรัฐ อีก 27 ปี หมายความว่าเวียดนามจะต้องทำให้ GDP โตที่ 4.62% ซึ่งไม่ได้เหนือบ่ากว่าเเรงสำหรับเวียดนาม ถือเป็นการตั้งเป้าที่มีความเป็นไปได้ เเละจะเเชงไทยไม่เกิน 7ปีข้างหน้าในเเง่ GDP Per Capita"

ด้านปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เวียดนามบรรลุเป้าหมาย คุณชยนนท์ ฉายภาพให้เห็นโดยระบุว่า เวียดนามมีพื้นที่ประมาณ 330,000 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ราว 510,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่น้อยกว่าประเทศไทยเกิน 60% เเต่เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ เวียดนามตั้งอยู่คาบสมุทรความยาวติดทะเล 3,400 กิโลเมตร เวียดนามจึงได้เปรียบด้านเกษตรกรรมเกี่ยวข้องกับอาหารทะเลเเละรายได้น่าจะเติบโตต่อไปอย่างเเข็งเเกร่ง ที่สำคัญการขาดเเคนลอาหารไม่น่าจะเกิดกับเวียดนาม ประเด็นต่อมาคือประชากร มีจำนวน 98 ล้านคน ภายใน 3-4 ปี ข้างหน้า คาดว่าจะเกิน 100 ล้านคน ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 60-70ล้านคน ที่น่าสนใจคือประชากรของเวียดนามใน 98 ล้านคน จำนวนคน เรียนจบปริญญาตรีเกือบครึ่ง

นอกจากนี้เวียดนามยังมีเป้าหมายภายในปี 2025 จะเพิ่มประชากรที่มีทักษะเทคโนโลยีให้ได้ 10 ล้านคน เเละจะเพิ่มประชากรผู้หญิงที่จบปริญญาตรี เกิน 50% ดังนั้น เป้าหมายของเวียดนามที่ประกาศบนเวที WEF มีเป้าอื่นรองรับ เช่น เป้าหมายด้านการศึกษา เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

เจาะลึกโอกาส \"เวียดนาม\" กับเป้าหมายประเทศเศรษฐกิจพัฒนาเเล้วปี 2050

ในประเด็นการค้าเวียดนาม เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิก WTO ตั้งเเต่ปี 2007 เวียดนามได้ลงนามและจะลงนามในความตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreements: FTA) ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EU – Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) ตั้งเเต่ 2019 หลังโควิดเข้าร่วม หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ปี 2022 และต้นปี 2023 เข้าร่วม RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership)

"หาไม่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก คือ  CPTPP เเละ RCEP หมายความว่าบริษัทใดก็แล้วเเต่ที่ไปตั้งโรงงานที่เวียดนามสามารถขายสินค้าให้จีนเเละสหรัฐฯ ได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมเงินลงทุนต่างชาติไหลบ่าเข้าไปฝั่งเวียดนามทั้งหมดเพราะสามารถจะขายกับใครก็ได้ โดยไม่ต้องโดนกำเเพงภาษี ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์ที่เรียกว่าการส่งออกของเวียดนามโตในระดับเกิน 10-20% อย่างน้อยๆ คือในช่วงที่จีนกับสหรัฐฯยังมีความขัดเเย้งกันอยู่" 

เพื่อจะรองรับเม็ดเงินจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน เวียดนามมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 300 เเห่ง ตั้งเเต่เวียดนามเหนือถึงเวียดนามใต้ ให้สิทธิภาษีนักลงทุนต่างชาติ เช่น ยกเว้นภาษีอากร ให้สิทธิครองที่ดิน การจ้างแรงงานต่างชาติ เพื่อได้ความรู้หรือทักษะนำมาพัฒนาประชากรในประเทศ

"จะเห็นได้ว่าเวียดนามพยายามวางเเผนโครงสร้างครบทุกมิติ เเรงงาน การดึงดูดเงินลงทุน อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศที่สมดุล ไม่ได้พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ ไม่พึ่งพาส่งออก แต่ไปที่มิติอุตสาหกรรม โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีคือข้อได้เปรียบ ทำให้เรื่องนี้โดดเด่นถึงขนาดที่ต้องการพัฒนาทักษะบุคคลากรด้านเทคโนโลยี จำนวน 10 ล้านคน เป็นวิสัยทัศน์ที่ฟังเเล้วน่าตื่นเต้นเเละไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนักลงทุน VI ในประเทศไทยบางส่วนถึงเริ่มขยับเเละโยกเงินไปที่เวียดนาม" 

ไทย ควรเรียนรู้อะไรจากเวียดนาม

คุณชยนนท์ ระบุว่า ทรัพยากรที่สำคัญ คือ ทรัพยากรมนุษย์ ต้องรีสกิลบุคคลากรภายในประเทศ แต่เชื่อว่าสุดท้ายจำเป็นต้องนำเเรงงานจากต่างชาติเข้ามาก่อน เพื่อเรียนรู้ทักษะ นอกจากนี้ไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ทันกับโลก 

"ถ้าเอาเเบบระยะสั้นสิ่งที่นายกฯ เดินสายไปดึงบริษัทเทคฯ มาตั้งฐานในไทยเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะทำให้คนในประเทศที่ต้องการเข้าไปทำงานก็จะปรับทักษะของตัวเอง เเต่การเชิญชวนนักลงทุนต่างขาติเข้ามาอาจติดเรื่องทักษะแรงงงานเเละค่าเเรงของไทยเเพงกว่าเวียดนาม ถ้าค่าแรงถูกกว่าแต่ทักษะเท่ากัน นักลงทุนก็น่าจะไปลงที่เวียดนาม ดังนั้นต้องมีข้อเสนอหรือกฎเกณฑ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำการบ้าน"

เวียดนามตั้งเป้าหมายจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)

ตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม ระบุว่า เวียดนามตั้งเป้าหมายที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)

ปัจจุบันการเติบโตของ GDP เฉลี่ยต่อปีของเวียดนามอยู่ที่ 7% ต่อปี ซึ่งภาคบริการมีสัดส่วนใน GDP มากกว่า 50% ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างมีสัดส่วนมากกว่า 40 % และภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมงมีสัดส่วนต่ำกว่า 10%

มติแผนแม่บทแห่งชาติระหว่างปี 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) วิสัยทัศน์ถึงปี 2593 (ค.ศ. 2050)

ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) GDP ต่อหัว (GDP per capita) ของเวียดนามจะสูงถึง 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับ GDP ต่อหัวในปี 2565 ประมาณ 4,100 ดอลลาร์สหรัฐ

รัฐบาลยังตั้งเป้าหมายเพิ่ม GDP ต่อหัวเป็น 27,000-32,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ในขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยของการผลิตภาพแรงงานสังคมจะมากกว่า 6.5 %ต่อปี และอัตราการขยายตัวของเมืองทั่วประเทศจะเกิน 50 %

หากบรรลุเป้าหมายข้างต้นได้ ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) เวียดนามจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง โดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) เวียดนามยังตั้งเป้าหมายว่าจะก้าวเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในเอเชีย เป็นศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจทางทะเลระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ และบรรลุเป้าหมาย Net Zero อีกทั้งจะส่งเสริมให้อย่างน้อย 5 จังหวัดในเวียดนาม ก้าวเป็นเมืองระดับนานาชาติ

คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม

ในปี 2024 ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (สแตนชาร์ต) คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามจะขยายตัวแข็งแกร่งถึง 6.7% ในปีนี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัว 6.2% และ 6.9% ในช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังของปีนี้ ตามลำดับ

สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เปิดเผยการคาดการณ์ดังกล่าวในรายงานการวิจัยระดับโลกเกี่ยวกับเวียดนามซึ่งมีการตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ โดยรายงานดังกล่าวมีชื่อว่า “Vietnam – stronger but not easier”

โดยให้เหตุผลว่า ระยะกลางนี้ เศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดี และการที่เวียดนามจะรักษาการเติบโตที่รวดเร็วและขีดความสามารถในการแข่งขันได้นั้น เวียดนามจำเป็นต้องยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมความพร้อมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน”

ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามยังคงแข็งแกร่ง แม้จะปรับตัวลดเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนยอดการส่งออกและนำเข้าเริ่มฟื้นตัว แม้ว่าการค้าที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์จะยังคงไม่แน่นอนก็ตาม แต่การฟื้นตัวของยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงซบเซา ซึ่งการผลักดัน FDI ให้แข็งแกร่งขึ้นนั้น ตัวเลข GDP ของเวียดนามจะต้องขยายตัวเร็วขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามจะพุ่งขึ้นแตะ 5.5% ในปี 2024 จากระดับ 3.3% ในปี 2023 พร้อมกับคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางเวียดนามอาจจะยุตินโยบายผ่อนคลายการเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามเริ่มฟื้นตัว

ขณะที่ สถาบันการจัดการทางเศรษฐกิจส่วนกลางของเวียดนาม คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศในปี 2024 โดยเเบ่งเป็น 2 ฉากทัศน์

  • การจะเติบโต 6.13 % หากการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.02 มูลค่าการค้าเกินดุลจะสูงแตะ 5,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 198 ล้านบาท) และภาวะเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 3.94
  • การเติบโต 6.48 % หากการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.19 มูลค่าการค้าเกินดุลจะสูงแตะ 6,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 219,000 ล้านบาท) และภาวะเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 3.72

โดยให้เหตุผลว่าปี 2024 จะยังคงเป็นปีที่ยากลำบากของเศรษฐกิจเวียดนามและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามการเสริมสร้างการปฏิรูปเชิงสถาบันจะช่วยเร่งการเติบโตให้กับเวียดนาม

โครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เวียดนาม 

สำนักงานการลงทุน กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) รายงานว่าในปี 2023 เวียดนามดึงดูดโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 39,100 โครงการ คิดเป็นเงินทุนจดทะเบียนรวมมากกว่า 468.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นครโฮจิมินห์เป็นเมืองที่มีการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มีโครงการ 12,398 โครงการ ทุนจดทะเบียน 57.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็น 31.67% ของจำนวนโครงการทั้งหมด รองลงมาฮานอย

ข้อมูลการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2023

เกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดด้วย 9,795 โครงการ โดยมีมูลค่าเงินทุนจดทะเบียน 84,016 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.3 ของมูลค่าเงินทุนทั้งหมด รองมาเป็นสิงคโปร์ ที่มี 3,412 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินทุนจดทะเบียน 73,409 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 9 และถัดไปเป็นญี่ปุ่น ที่มี 5,227 โครงการ มูลค่า 71,414 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 15.5 เป็นต้น

ตามข้อมูลของ MPI ในอดีต เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่เวียดนามยังคงมุ่งเน้นไปที่จังหวัดและเมืองที่มีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ดีและทรัพยากรมนุษย์ที่มั่นคง การปฏิรูปการบริหาร และพลวัตในการส่งเสริมการลงทุน

ตำแหน่งและบทบาทของเวียดนามต่อกระแส FDI ทั่วโลก

ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เวียดนามไม่เพียงแต่เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจ โดยทุน FDI ที่จดทะเบียนในปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 36.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 32% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังลงทุนในเชิงรุกในต่างประเทศ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและในอุตสาหกรรมใหม่

เวียดนามยังได้ส่งเสริมนวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล การเติบโตสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และภาคเศรษฐกิจใหม่ เช่น การผลิตชิป เซมิคอนดักเตอร์ การเกษตรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และเหมืองแร่ การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงเพื่อคว้าโอกาสจากประเทศสำคัญ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ การย้ายเงินทุน FDI ทั่วโลก ข้อตกลงการค้าเสรี และการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ

เวียดนามในการสร้างสมดุลความสัมพันธ์กับประเทศสำคัญ

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เน้นย้ำในเวที WEF 2024 ว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจากสงครามและการคว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้ตัดสินใจที่จะทำลายอดีต เอาชนะความแตกต่าง ส่งเสริมความคล้ายคลึงกัน และมองไปสู่อนาคต โดยการเปลี่ยนศัตรูให้เป็นพันธมิตร

เขากล่าวว่า การเยือนเวียดนามของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจทางการเมืองที่แข็งแกร่งระหว่างเวียดนามและมหาอำนาจสำคัญของโลกทั้งสอง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงแนวทางนโยบายต่างประเทศของประเทศอย่างแท้จริง

รายงานระบุว่า การเยือนเวียดนามของ ไบเดน ได้ขนทัพผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น กูเกิล อินเทล แอมคอร์ มาร์เวลล์ โกลบอลฟาวน์ดรีส์ และ โบอิ้ง เข้าร่วมประชุมสุดยอดนวัตกรรมและการลงทุนระหว่าง เวียดนาม-อเมริกา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงฮานอยเมื่อปีที่ผ่านมา