ถอดบทเรียนเวียดนาม ยอมเปิดให้อียูรับงานได้100% เพิ่มถือหุ้นหลากธุรกิจ

18 ม.ค. 2567 | 16:57 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 17:35 น.

ถอดบทเรียนเอฟทีเออียู-เวียดนาม (EVFTA) หนังตัวอย่างไทยถก FTA ไทย-อียู เผยเวียดนามยอมอื้อแลกผลประโยชน์ ทั้งเปิดทางร่วมประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้เทียบเท่าบริษัทในประเทศ และให้บริษัทอียูถือหุ้นได้มากขึ้นในธุรกิจหลากหลายสาขา แลกลดภาษีสินค้า 99% เป็นศูนย์ใน 10 ปี

 

ความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับเวียดนาม หรือ FTA อียู-เวียดนาม ที่มีชื่อเรียกว่า EVFTA นั้น เริ่มการเจรจากันเมื่อปี 2555 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นมา นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการค้า-การลงทุนระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันที่ทำ FTA กับอียูไปแล้ว มีเพียงสิงคโปร์และเวียดนามเท่านั้น โดยเชื่อว่า EVFTA น่าจะเป็นพิมพ์เขียว หรือเป็นต้นแบบให้กับการเจรจา FTA อียู-ไทย ที่กลับมารื้อฟื้นเจรจากันอีกครั้งแล้วก็เป็นได้

EVFTA ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีสมัยใหม่ที่มีขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมกว้างที่สุดที่อียูเคยทำกับประเทศกำลังพัฒนา ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการลดภาษี กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า การค้าดิจิทัล การบริการ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา จนถึงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และแรงงาน

เนื้อหาสาระหลักภายใต้ EVFTA คือ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะลดภาษีเหลือศูนย์สำหรับสินค้ากว่า 99% ของสินค้านำเข้าจากทั้งสองประเทศภายในกรอบเวลา 10 ปี โดยสินค้าส่งออกของอียูไปยังเวียดนามที่ได้รับยกเว้นภาษีทันทีมีประมาณ 65% อาทิ ยาและเวชภันฑ์เกือบทุกรายการ และสินค้าส่วนใหญ่จากกลุ่มเครื่องจักรกลและเครื่องยนต์ (HS84) เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (HS85) และเคมีภัณฑ์ (HS28, 29) ส่วนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างเนื้อสัตว์และนํ้ามันมะกอกจะได้รับการยกเว้นภาษีภายใน 3 ปี ฝ่ายอียูหวังว่า FTA ฉบับนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปหลังยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในส่วนของสินค้าส่งออกจากเวียดนามไปยังอียูที่ได้รับการยกเว้นภาษีทันทีมีประมาณ 71% อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า (HS85) รองเท้า (HS64) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (HS61, 62) อาหารทะเล (HS03) และข้าว (HS1006) เป็นต้น

กล่าวง่าย ๆ คือ FTA ฉบับนี้ปูทางสะดวกให้เวียดนามเข้าถึงตลาดผู้บริโภครายได้สูงของอียูกว่า 446 ล้านคนโดยไม่มีกำแพงภาษี อีกทั้งยังสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของอียูเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นปัจจัยส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเวียดนาม

FTA ระหว่างอียูและเวียดนาม (EVFTA) เริ่มการเจรจาปี 2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นมา

และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้ FTA ฉบับนี้ นับเป็น “ครั้งแรก” ที่เวียดนามยอมเปิดโอกาส ให้บริษัทของอียูมีสิทธิในการเข้าร่วมประมูลสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้เทียบเท่ากับบริษัทท้องถิ่นของเวียดนามเอง และมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นในภาคบริการหลายสาขาสำคัญ

นอกจากนี้ เวียดนามยังยอมยกเลิกเงื่อนไขเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้นระหว่างชาวต่างชาติกับคนชาติ และจำนวนเงินลงทุนขั้นตํ่า เช่น ภาคพลังงาน โลจิสติกส์ บริการไปรษณีย์ แฟรนไชส์ การแพทย์ โรงแรมและธุรกิจการจัดประชุม เป็นต้น

สำหรับฝ่ายสหภาพยุโรป FTA ฉบับนี้ จะทำให้บริษัทของอียูมีสิทธิในการเข้าร่วมประมูลสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (public contracts) เทียบเท่ากับบริษัทท้องถิ่น และมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นในภาคบริการหลายสาขาสำคัญของเวียดนาม โดยฝ่ายเวียดนามมีการยกเลิกเงื่อนไขเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้นระหว่างชาวต่างชาติกับคนชาติ และจำนวนเงินลงทุนขั้นตํ่า เช่น ภาคพลังงาน โลจิสติกส์ บริการไปรษณีย์ แฟรนไชส์ การแพทย์ โรงแรมและธุรกิจการจัดประชุม เป็นต้น (ดังกราฟิกประกอบ)

ในส่วนของการเปิดเสรีการลงทุนภาคบริการ เวียดนามยังยอมเปิดประตูให้นักลงทุนจากอียูลงทุนในเวียดนามได้เสรีและถือหุ้นได้ในสัดส่วนสูงสุดถึง 100% ในหลายสาขาบริการและสูงกว่าที่นักลงทุนจากอาเซียนได้รับอนุญาต อาทิ

  • ธุรกิจการค้าส่ง/ค้าปลีก นักลงทุนอียู สามารถลงทุนได้สูงสุด 100% โดยไม่ต้องทำการประเมินความต้องการทางเศรษฐกิจ (Economic Need Test: ENT) หลังการลงทุนมาเป็นระยะเวลา 5 ปี
  • ธุรกิจบริการขนส่งทางทะเล ทางราง ทางถนน และทางนํ้า นักลงทุนอียู สามารถลงทุนในทุกสาขาย่อยได้สูงสุด 70% ซึ่งสูงกว่าความตกลงอาเซียนที่ได้เพียง 49% เป็นต้น

เวียดนามยังได้ปรับข้อปฏิบัติด้านการนำเข้าสินค้าให้กระชับและโปร่งใสเพื่อเอื้อให้บริษัทของอียูสามารถเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้สะดวกมากขึ้น และยังให้ความคุ้มครองสินค้าอาหารและเครื่องดื่มพื้นเมืองของยุโรป 169 รายการ ภายใต้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น แชมเปญและพาร์มาแฮม ส่วนสินค้าพื้นเมืองของเวียดนามเอง ก็จะได้รับการคุ้มครองจากอียูเช่นกันเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งจะเห็นได้ว่า EVFTA มีระดับการเปิดเสรีที่สูงกว่ามาตรฐานขององค์การการค้าโลก (WTO) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ด้วยซํ้า

EVFTA เป็นความตกลงฯ มาตรฐานสูง ที่ทำให้เวียดนามยกระดับตัวเองสู่มาตรฐานสากลในหลายๆด้าน

กล่าวกันว่า EVFTA เป็นความตกลงฯ “มาตรฐานสูง”ที่ทำให้เวียดนามยกระดับตัวเองสู่มาตรฐานสากลในหลายๆด้าน อียูได้ผลักดันให้เวียดนามพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสหภาพยุโรป โดยใน FTA อียู-เวียดนามฉบับนี้ มีบทเฉพาะเรื่องการค้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งยํ้าให้เวียดนามต้องปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน เวียดนามมี FTA กับประเทศต่าง ๆ รวม 13 ฉบับ ซึ่งรวมถึง EVFTA ที่ทำกับอียู ซึ่งแม้ต้องยอมเปิดตลาดให้สินค้าและบริษัทของอียูเข้ามาแข่งขัน และยังต้องยกระดับมาตรฐานของตัวเองหลายด้าน แต่ข้อตกลงฉบับนี้ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับเวียดนาม ทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ของเวียดนามในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนนี้อีกด้วย ยิ่งเสริมความแกร่งให้กับเศรษฐกิจของเวียดนามที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่าง สินค้าการเกษตรที่มีการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า อาทิ ช็อคโกแลตเวียดนาม ที่ได้รับการรับรองโดย The International Cocoa Organization (ICCO) ว่ามีคุณภาพเทียบเท่ากับแหล่งปลูกโกโก้ชื่อดังอย่างบราซิลและกานา เป็นต้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อนมี EVFTA ในปี 2563 เวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปตลาดอียูเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอยู่แล้ว ด้วยมูลค่าเกือบ 35,000 ล้านยูโร ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามไปยังอียู ได้แก่อิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กาแฟ ข้าว อาหารทะเล และเฟอร์นิเจอร์ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังอียูขยายตัวเฉลี่ยในอัตรา 17.8% ต่อปี ขณะที่ไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และสิงคโปร์อยู่ที่ 4.4 %

สถานะของเวียดนามด้านการค้าหลัง EVFTA จึงเหมือนมังกรติดปีก ที่ไทยเองคงต้องศึกษากันต่อไปว่า ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวช่วยเสริมหนุน หรือฉุดรั้งเวียดนามในด้านใดบ้างและอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการเจรจา FTA ของไทยเองกับอียูต่อไป