“ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ปี 2567 อีกรอบ บอร์ดไตรภาคี ตั้งอนุฯศึกษา 2 เดือนรู้ผล

18 ม.ค. 2567 | 02:43 น.
1.4 k

ใกล้ความจริง “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” อีกรอบปี 2567 หลัง บอร์ดไตรภาคี ไฟเขียวตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รอบใหม่ คาดใช้เวลาศึกษา 2 เดือน ก่อนได้ข้อสรุปแยกรายพื้นที่ สาขาอาชีพ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือ บอร์ดไตรภาคี ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนจากนี้ ก่อนที่จะนำข้อมูลไปเสนอคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง 

“ได้รับรายงานแล้วว่าบอร์ดไตรภาคี ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อจะดูโครงสร้างและศึกษาข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำแบบลงลึกในรายละเอียดเพื่อให้การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด นั่นคือ จะดูเป็นรายพื้นที่ในทุกจังหวัด แยกมาเป็นแบบ รายระดับอำเภอ หรือระดับเทศบาล หรือรายเขตในกรุงเทพฯ รวมทั้งอาจลงไปถึงรายวิชาชีพ ซึ่งทั้งหมดน่าจะได้ข้อสรุปเข้ามาเสนอมายังคณะกรรมการอีกครั้ง” นายพิพัฒน์ ระบุ

ทั้งนี้หลังจากมีการศึกษารายละเอียดของการคิดอัตราค่าจ้างใหม่แล้ว ในขั้นตอนต่อไปคงต้องมาดูว่าจะมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำได้ทันทีหรือไม่ในปี 2567 นี้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็คงต้องไปหารือกับทางภาคเอกชนเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งระบบ

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 กล่าวว่า ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นครั้งนี้ จะพิจารณาสูตรที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เนื่องจากสูตรเก่าไม่ได้พิจารณาปรับใหม่มาเป็นระยะเวลานาน 10 ปี 

โดยคณะอนุกรรมการรฯ มีจำนวน 17 คน คือจากภาครัฐ ซึ่งได้มอบหมายตั้งให้รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ กระทรวงการท่องเที่ยว เพื่อรวมกับของฝ่ายนายจ้าง 5 คนฝ่ายลูกจ้าง 5 คน รวมเป็น 17 คน เพื่อพิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน 

โดยจะใช้ประกอบในการปรับปรุงสูตรใหม่รวมถึงวิเคราะห์และทบทวนตัวแปรในเชิงปริมาณและคุณภาพในการนำเสนอ ความเหมาะสมในการคำนวณสูตรอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งการจัดทำสูตรค่าจ้างขั้นต่ำเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง 

รวมทั้งพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับอยู่ตามมาตรฐานค่าครองชีพใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง ตามข้อเท็จจริงตามเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ด้วย โดยพิจารณารายพื้นที่จังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี พังงา ที่เราเอาความเป็นจริงมาคำนวณ

 

การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 1/2567

 

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้จะให้เวลาในการเสนอรายชื่อมาภายใน 7 วัน หลังจากนั้นจะประชุมคณะอนุฯ เพื่อพิจารณาปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 2/2567 

“การปรับค่าจ้างใหม่ ว่าจะทันในช่วงเดือนเมษายนหรือไม่นั้นขอดูที่ประชุมของคณะอนุฯออกมาก่อน ซึ่งเราจะพยายามทำให้เร็วที่สุด ในส่วนที่ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะถึง 400 บาท หรือไม่นั้น ขอให้คณะอนุฯประชุมก่อน จึงจะสามารถตอบได้ ” นายไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบการปรับ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” วันละ 2–16 บาท ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ ไตรภาคี โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งในการประชุมครม.รอบดังกล่าว นายพิพัฒน์ ได้หารือในที่ประชุมว่า คณะกรรมการค่าจ้าง จะนัดประชุมอีกครั้ง เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อศึกษาการปรับโครงสร้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งหมด

โดยยอมรับว่า เมื่อคณะอนุกรรมการหารือจนได้ข้อสรุปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอเข้าสู่ที่ประชุมไตรภาคีชุดใหญ่ ภายในเดือนมีนาคม 2567 ก่อนจะประกาศค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ เพื่อเป็นของขวัญวันขึ้นปีใหม่ไทย คือช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ต่อไป