ครั้งแรก! เปิดขบวนรถไฟขนสินค้าข้ามแดน “ไทย-ลาว-นครฉงชิ่ง”

29 ธ.ค. 2566 | 12:27 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2566 | 12:33 น.

บันทึกประวัติศาสตร์ ปล่อยขบวนรถไฟขบวนพิเศษ ขนส่งสินค้าเกษตรข้ามแดน “ไทย-ลาว-นครฉงชิ่ง” 2 ขบวน ทั้งฝั่งไทย และ จีน ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 4 วัน ถึงจุดหมายปลายทาง

วันนี้ (29 ธันวาคม 2566) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานฝ่ายประเทศไทย ร่วมด้วยนายชาญศักดิ์ ชมชื่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริษัท Global Multimodal Logistics จำกัด (GML) และ Mr. Phillip Zhu บริษัท Pan-Asia Silk Road จำกัด หรือ PAS พลเอกธวัชชัย ชวนสมบูรณ์ ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายวุฒิ เร่งประดุงทอง นายด่านศุลกากรและรักษาการณ์ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรหนองคาย 

ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีการปล่อยขบวนรถไฟขบวนพิเศษสายประวัติศาสตร์โดยเป็นสินค้าเกษตร ได้แก่ ลำไยแห้งอบเป็นสินค้านำร่องอย่างเป็นทางการครั้งแรก ตามโครงการ New Land-Sea Corridor ของรัฐบาลจีน เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางรางระหว่างประเทศในทวีปยุโรป จีน ลาว ไทย และอาเซียน 

โดยโครงการนี้มีนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นศูนย์กลางการขนส่ง สอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยในการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไปทั่วโลก เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยกระดับสินค้าเกษตรไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

 

ครั้งแรก! เปิดขบวนรถไฟขนสินค้าข้ามแดน “ไทย-ลาว-นครฉงชิ่ง”

 

เวลาเดียวกัน ที่สถานีรถไฟมหานครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีพิธีการปล่อยรถขนสินค้าจีน โดยนายเจิ้ง เซี่ยงตง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครฉงชิ่ง ในฐานะประธานฝ่ายมหานครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยนางสาวณัฐฐ์สิริ นิ่มยี่สุ่น รองกงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู นายชาย เลมสุธี ที่ปรึกษาการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศจีน ประธาน New Land-Sea Corridor Operation Co., Ltd. 

ในฐานะสักขีพยานฝ่ายจีนก็ได้ร่วมกันปล่อยตู้สินค้าจีน ได้แก่ สินค้าโซเดียมซัลเฟต เพื่อนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยคาดว่ารถไฟทั้งสองขบวนจะวิ่งสวนกันระหว่างการเดินทางของทั้งสองประเทศ

สำหรับการปล่อยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าทั้งสองขบวนนี้ ถือได้ว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ทางการค้าขายสินค้าของทั้ง 2 ประเทศครั้งแรกอย่างเป็นทางการในการขนส่งสินค้าทางราง โดยจะใช้เวลาเดินทางทั้งสองขบวน ไม่เกิน 4 วัน และหลังจากการทำพิธีปล่อยสินค้าทั้งสองขบวนในวันนี้แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายก็จะร่วมกันจัดการขนส่งสินค้าของทั้ง 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าของแต่ละประเทศเป็นหลัก

 

ครั้งแรก! เปิดขบวนรถไฟขนสินค้าข้ามแดน “ไทย-ลาว-นครฉงชิ่ง”

 

ทั้งนี้บริษัท PAS จะจัดเตรียมตู้คอนเนอร์ทั้งแบบธรรมดาและแบบตู้ทำความเย็นไว้พร้อมให้บริการแก่ลูกค้า และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการรับบริการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน บริษัท  PAS ได้จัดบริการขนส่งสินค้าให้ลูกค้าทางรางรวม 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 

  1. สถานีรถไฟมาบตาพุด- มหานครเฉิงตู  
  2. สถานีรถไฟมาบตาพุด-มหานครฉงชิ่ง 
  3. สถานีรถไฟมาบตาพุด- มหานครกวางโจว 
  4. สถานีรถไฟมาบตาพุด- เมืองเจิ้งโจว 

 

ครั้งแรก! เปิดขบวนรถไฟขนสินค้าข้ามแดน “ไทย-ลาว-นครฉงชิ่ง”

 

โดยขนส่งสินค้าเกษตรเป็นผลไม้ไทย อาทิเช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าว และสินค้าประเภทอาหารทะเลแช่แข็ง รวมทั้งกำลังจะขยายตลาดการส่งออกไก่แช่แข็งไปสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนทางตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีนในต้นปีพ.ศ. 2567 ด้วยเช่นกัน ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลไทย

ทั้งนี้การขนส่งสินค้าทางระบบรางระหว่างประเทศไทย ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นมิติใหม่ในการขนส่งสินค้าที่รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก เป็นการให้ความสำคัญในฐานะโครงการเส้นทาง One belt one road ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าระหว่างประเทศทางรางไปสู่กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่อไป