‘ความหวังการค้าไทย’ ลุ้น FTA 3 ฉบับใหม่ ปิดดีลปี 67 

26 ธ.ค. 2566 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2566 | 15:32 น.

‘ความหวังการค้าไทย’ ลุ้น FTA ไทย 3 ฉบับใหม่ ปิดดีลกลางปี 67 กระทรวงพาณิชย์ หวังช่วยพลิกฟื้นภาคการส่งออกกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หลังการส่งออกไทยปี 66 ส่อแววติดลบจากปีก่อน

หลังจากกระทรวงพาณิชย์ เผยยอดการส่งออกไทยเดือน พ.ย. 66 ขยายตัว 4.9 % มูลค่า 23,479.7 ล้านบาท แม้จะถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เมื่อดูในภาพรวมแล้ว ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 66 ภาคการส่งออก มีมูลค่า 261,770.3 ล้านดอลลาร์ ยังคงติดลบ 1.5% (ติดลบ 1.8% มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท)

กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า เดือน ธ.ค. 66 เป็นเดือนสุดท้ายของปี ที่จะชี้วัดว่าภาคการส่งออกในภาพรวมของไทยจะปิดปีอย่างไร หากมีแนวโน้มที่ดี การส่งออกไทยอาจจะติดลบน้อยกว่า 1.5% ก็เป็นได้

เมื่อดูสถิติเดือน ธ.ค.ย้อนหลัง 5 ปี พบว่าส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

  • หากที่ได้เท่าค่าเฉลี่ย การส่งไทยจะติดลบราว 1%
  • หากทำได้ 23,000 ล้านดอลลาร์ จะติดลบ 0.8%
  • หากได้ 25,654 ล้านดอลลาร์ การส่งออกทั้งปีจะอยู่ที่ 0%

‘ความหวังการค้าไทย’ ลุ้น FTA 3 ฉบับใหม่ ปิดดีลปี 67  ‘ความหวังการค้าไทย’ ลุ้น FTA 3 ฉบับใหม่ ปิดดีลปี 67   

ก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Go Thailand : Green Economy - Landbridge โอกาสทอง หัวข้อ “Exploring the Dynamics : การค้าโลกใหม่” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ 

โดยระบุว่า “โลกการค้าใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องเข้าใจการเกลี่ยนเปลง รับมือ และต่อรอง อย่าจำยอมรับกติกาบางอย่างที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำการค้า โดยเฉพาะในช่วงต่อจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA หลายกรอบ เช่นเดียวกับการเจรจาการค้าใด ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นก็ต้องต่อรองให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจด้วย”

คำกล่าวของนายภูมิธรรม กำลังชี้ให้เห็นว่าภาครัฐ กำลังเดินหน้าเร่งเจรจา FTA อย่าต่อเนื่อง ตามคำเรียกร้องของภาคเอกชนหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทย ซึ่งปัจจุบันไทยมี FTA กับคู่ค้า 14 ฉบับ จำนวน 18 ประเทศ ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยมีสัดส่วนการค้า ในปี 2565 คิดเป็น 60.9% ของการส่งออกไทยไปทั่วโลก

ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างเจรจา FTA หลายกรอบ ซึ่งมี 3 ฉบับที่ใกล้จะปิดดีลได้ในช่วงปี 2567 ได้แก่

1.ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

เจรจาแล้ว 4 รอบ
กรอบระยะเวลา : ปิดดีลสิ้นปี 66         
หลักการ : กำลังซื้อสูง จากภายในประเทศและการท่องเที่ยว
ทำเลที่ตั้ง : ศูนย์กลางโลจิกติกส์กระจายสินค้าของไทยสู่ตะวันออกกลาง
ผลการศึกษา : ช่วยให้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่ม 11,194 -12,567 ล้านบาท
สินค้าที่ได้รับประโยชน์ : อาหาร สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง และพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน การขนส่ง การเงิน และบริการด้านธุรกิจ

 

2.ไทย-ศรีลังกา

เจรจาแล้ว 8 รอบ
กรอบระยะเวลา : ปิดดีลต้นปี 67         
หลักการ : มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
ทำเลที่ตั้ง : จุดยุทธศาสตร์เส้นทางการเดินเรือมหาสมุทรอินเดียเชื่อมเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ใช้เป็น “เป็นฐานการผลิตสินค้า”
ผลการศึกษา : เพิ่ม GDP ไทย 4,130 ล้านบาท , การลงทุนของไทยในศรีลังกา เพิ่มขึ้นปีละ 1,912 ล้านบาท
สินค้าที่ได้รับประโยชน์ : ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล พลาสติก และ อุตสาหกรรมที่จะลงทุนในศรีลังกา เช่น อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ อัญมณี เครื่องประดับ


3.ไทย-เอฟตา (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป : EFTA)

เจรจากันไปแล้ว 7 รอบ
กรอบระยะเวลา : ปิดดีลกลางปี 2567
หลักการ : มาตรฐานสูงเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทย ดึงดูดการลงทุน และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรม

สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ : 

  • กลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ข้าวโพดหวาน อาหารสำเร็จรูป อาหารสุนัขและแมว ผลไม้เมืองร้อน แป้ง น้ำมันพืช ไก่แปรรูป น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ เส้นก๋วยเตี๋ยว ผักและผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ 
  • กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ “กลุ่มบริการ” เช่น การท่องเที่ยว การเงิน โทรคมนาคม การแพทย์ สุขภาพ พลังงานสะอาด ด้านวิชาชีพ


ทั้งนี้ หากดูจากไทม์ไลน์แล้ว การเจรจา FTA ไทย-ยูเออี น่าจะเป็นดีลเดียวใน 3 ฉบับนี้ ที่ไม่สามารถปิดดีลได้ตามกรอบระยะเวลา ซึ่งการเจรจาคืบหน้ากว่า 80% แล้ว ส่วนการเจรจาอีก 2 ฉบับคงต้องลุ้นกันพอสมควร โดยเฉพาะ FTA ไทย-เอฟต้า ที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดให้มีการประชุมกันอีก 3 ครั้ง ในช่วงเดือน ม.ค. มี.ค. และ เม.ย. 2567

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาเป็นผลทั้งหมด ไทยจะมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA เพิ่มขึ้น จาก 60.9% เป็น 66.7% พร้อมตั้งเป้าเพิ่มเป็น 80% ในปี 2570